เปิดปมผลกระทบ 3 สารพิษที่ไทยสั่งห้ามใช้ จนสหรัฐฯ เสียดุลการค้า ตอบโต้ด้วยการตัดสิทธิ GSP
นับเป็นข่าวใหญ่โตที่ส่งผลกระทบทั่วหน้าสำหรับการลงมติตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ที่เป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทย จากกรณีที่ไทยสั่งแบน 3 สารพิษกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส โดยห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562
ซึ่งที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีการใช้สารไกลโฟเซตในกลุ่มถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น ที่ส่งมาไทยมูลค่าประมาณ 51,000 ล้านบาท จะต้องหยุดชะงักลง
ผลกระทบ 3 สารพิษที่ไทยสั่งห้ามใช้
ข้อมูลจากอนามัยโลกมีหลักฐานจำกัดเรื่องของการก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน หลักฐานเกี่ยวกับการรับสัมผัสสารก่อมะเร็งมนุษย์มาจากภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยมีผลการศึกษาจากสหรัฐ แคนาดา และสวีเดนที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2544 นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าไกลโฟเซตยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง
ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดทำข้อมูลผลกระทบสุขภาพของ 3 สารเคมีภาคการเกษตร ซึ่งล้วนอันตรายต่อผู้บริโภค ประกอบไปด้วย
พาราควอต (Paraquat)
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการผลิตพาราควอตมากที่สุดในโลก มีผลกระทบต่อปอดมนุษย์โดยตรงทั้งระยะสั้นและยาว โดยถุงลมปอดจะถูกทำลาย จากการรับสัมผัสทางการกิน และทางเดินหายใจส่วนบน จะถูกทำลายหากได้รับสัมผัสจากการหายใจ สุดท้ายจะเกิดการทำลายเนื้อปอดจนเกิดพังผืดในปอด (lung fibrosis) ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต หลังสัมผัสประมาณ 2 สัปดาห์ ผลกระทบในระยะยาวมีผลเรื้อรังต่อเนื่องจากการที่ได้รับผลพิษสะสมในระยะสั้น ได้แก่ Irreversible lung disease นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน
สำหรับอาการของผู้ป่วยขึ้นกับช่องทางการสัมผัส คือ ทางการหายใจ ทำให้ระคายเคืองที่เยื่อบุโพรงจมูก เลือดกำเดาไหล และทางการกินมีแผลไหม้ในช่องปาก ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ความอยากอาหารลดลง ปวดท้อง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว มีไข้ ปวดตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หายใจสั่นๆ หัวใจเต้นเร็ว
ไกลโฟเซต (Glyphosate)
ไกลโฟเซต เป็นยาฆ่าวัชพืช (Herbicide) ที่เกษตรกรในหลายประเทศนิยมใช้ ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ระบุว่า ไกลโฟเซต เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2014
โดยสารดังกล่าวได้กลายเป็นข่าวดังอีกครั้ง หลังจากคณะลูกขุนในสหรัฐฯ มีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์ จ่ายค่าเสียหายมูลค่า 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 9,500 ล้านบาท) ให้แก่ นายดีเวย์น จอห์นสัน ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากการที่เขาใช้ผลิตภัณฑ์แรงเจอร์โปร เป็นประจำในการทำงานเป็นคนสวนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) เมื่อปี 2014
ศ.พรพิมล กองทิพย์, คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล พบไกลโฟเซตในซีรั่มของแม่และสะดือทารก เด็กแรกเกิด 46.3 – 50.7 % ของจำนวนตัวอย่าง การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร ไกลโฟเซตอาจจะตกค้างในดินมากกว่า 1 ปี ในดินเหนียว ซึ่งมีสารอินทรีย์วัตถุมากและจะถูกชะล้างได้เร็วในดินทราย
คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)
การตกค้างของสารเคมีชนิดนี้ (pesticide residue) เป็นอันตราย (food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) เมื่อได้รับทั้งทางปาก ผิวหนัง และสูดดม จะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัว เป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมากกว่าปกติ อาการพิษรุนแรงจะหมดสติ น้ำลายฟูมปาก อุจจาระ ปัสสาวะราด หายใจลำบาก และหยุดหายใจ
ในระยะยาวมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่ระบุว่า สารเคมีชนิดนี้ ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็ก โดยเฉพาะด้านพัฒนาการของเด็ก มีอาการสมาธิสั้น ไปจนถึงปัญหาด้านความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ได้
ผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร
กรณีในประเทศเกษตรกรไทยอาจได้รับผลกระทบแบกรับเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเองอาจต้องซื้อผักแพงขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังหาสารทดแทน
ส่วนกับคู่ค้าตอนนี้ก็คือการที่สหรัฐฯ ตอบโต้ไทยเนื่องจากส่งออกสินค้าไม่ได้ด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางภาษี ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ
ที่มา
- กระทรวงสาธารณสุข
- กรมอนามัยโลก
- https://www.posttoday.com/world/604964
- https://news.thaipbs.or.th/content/285412
- https://www.facebook.com/biothai.net/
- https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3003973
- https://www.bbc.com/thai/international-45155365
- http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2169/chlorpyrifos-%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%9F%E0%B8%AD%E0%B8%AA