“If you tell a big enough lie and tell it frequently enough, it will be believed.”
ถ้าคุณพูดโกหกที่ใหญ่และพูดมันบ่อยพอ คนก็จะเชื่อมันเอง
– อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ –
ข่าวปลอมหรือ Fake News รุ่นแรกที่ส่งผลต่อโลกนี้มากที่สุดเห็นจะไม่เอ่ยถึงบุรุษผู้สร้างเรื่องเท็จให้จริงได้ในสมัยสงครามโลก อย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไม่ได้เลย ปฏิบัติการควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ศัตรได้รับภายใต้ปฏิบัติการยุทธการทางข้อมูลข่าวสารทางทหาร (Information Operation: IO) ผ่านโครงข่ายสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุ เพื่อสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม ปลุกกระแสมวลชนหวังประโยชน์บางอย่างจากจิตวิทยามวลชน กลายเป็นภาพมายาทางการทหารที่สร้างประวัติศาสตร์อันโหดร้ายที่สุดประวัติศาสตร์หนึ่งบนโลกใบนี้
จนมาถึงยุคข่าวปลอมบนอีเมล จากนั้นก็อยู่บน Twitter Facebook และ LINE
ซึ่งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตนี่ที่สร้างผลกระทบได้มหาศาลและกว้างกว่ายุคสงครามโลกอีกมาก เนื่องจากเข้าถึงกันได้อย่างไร้พรมแดนและในเวลาเพียงไม่ถึงเสี้ยววินาที ข่าวปลอมก็กระจายไปได้เกินกว่าจะควบคุม
ชาวเน็ตโลก 86% ถูกข่าวปลอมหลอก
ข่าวปลอมมีอิทธิพลขนาดไหน? ดูได้จากงานวิจัยผลสำรวจทั่วโลกจากบริษัทสำรวจและวิจัยตลาดอิปซอส ที่ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 2,500 คนใน 25 ประเทศทั่วโลกพบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 4 ใน 5 ยอมรับเคยถูกข่าวปลอมหลอก โดยข่าวปลอมเหล่านี้ส่วนใหญ่เผยแพร่อยู่ใน ‘เฟซบุ๊ก’ ตามมาด้วยยูทูป และทวิตเตอร์
ส่งผลสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและบรรยากาศทางการเมือง ซึ่งแหล่งเผยแพร่ข่าวปลอมแหล่งใหญ่คือ รัสเซียและจีน
ทำไมข่าวปลอม (Fake News) ถึงมีอิทธิพลมากกว่าข่าวจริง?
เรื่องนี้ BuzzFeed ให้คำตอบได้เพราะตัวเลขการมีส่วนร่วมกับข่าว (ไลก์ คอมเมนต์ แชร์ หรือ Engagement) ใน 20 ข่าวปลอม ช่วงสามเดือนก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2016 พุ่งสูงมากถึง 8.7 ล้านครั้งและข่าวที่ยอดการมีส่วนร่วมสูงสุดคือ 5 ข่าวปลอมที่โจมตี ฮิลลารี คลินตัน พรรคเดโมแครต ประกอบได้
- โป๊ปหนุนโดนัลด์ ทรัมป์ (960,000 Engagement)
- FBI แฉ ฮิลลารี ขายอาวุธให้กลุ่มก่อการร้าย ISIS (789,000 Engagement)
- พบศพ จนท. FBI เซ่นอีเมลรั่วฮิลลารี (754,000 Engagement)
- อีเมลฮิลลารีรั่ว (567,000 Engagement)
- ฮิลลารี คลินตัน ถูกตัดสิทธิ์จากสำนักงานรัฐบาลกลาง (701,000 Engagement)
ซึ่งก่อนหน้านี้ Facebook ยอมเปิดเผยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ พบว่ามาจากบัญชีในประเทศรัสเซียดำเนินการปล่อยข่าวปลอมตั้งแต่ตั้งแต่ช่วงมิถุนายน 2015 – พฤษภาคม 2017 เป็นเพจและบัญชีปลอมกว่า 470 บัญชี มีซื้อโฆษณาทั้งหมด 3,000 โฆษณา มูลค่าเงินนับ 1 แสนดอลลาร์
จากการตรวจสอบของ Facebook ยังพบอีกว่า มีการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองกว่า 2,200 โฆษณา เข้าถึงผู้ใช้งานถึง 10 ล้านรายในสหรัฐฯ เนื้อหาที่เผยแพร่ไม่ได้เจาะจงที่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่แตะประเด็นสังคม การเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ สีผิว
ความพยายามของ Facebook
หลังจากเหตุการณ์ฉาวดังกล่าว Mark Zuckerberg เองก็ได้มีความพยายามในการจัดการกับเหตุการณ์ดังกลาว โดยการเพิ่มคนตรวจจอบและฟังก์ชันแสดงว่าแต่ละเพจกำลังโฆษณาโพสต์ใดอยู่บ้าง
ในคำแถลงการณ์ Mark Zuckerberg ยังระบุอีกว่า Facebook ได้เพิ่มทีมงานที่เป็นมนุษย์นับพันคน เพื่อตรวจสอบโฆษณาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการใช้ AI แม้ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะไม่สามารถหยุดพฤติกรรมได้ทั้งหมด แต่นี่เป็นก้าวครั้งสำคัญ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
แหม่ มันจะไม่กระทบได้อย่างไร
ลองคิดดูสิว่า เมื่อประชาชนเจอข่าวแบบนี้มากๆ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของข่าวปลอม หรือข้อมูลปลอม (เรียกรวมๆ ว่า fake news) จะไม่มีผลต่อการเลือกตั้งจริงหรือ?
ทุกวันนี้ความน่ากลัวของสังคมดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของการสร้างเครือข่ายข่าวปลอมที่ประกอบด้วยโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ สิ่งนี้ไม่ได้ใหม่ แค่ย้ายจากสื่อเก่ามายังออนไลน์ แต่ที่น่ากลัวก็คือความเร็วของเทคโนโลยีต่างหาก เนื่องจากทุกวันนี้มีบอทที่เป็นผู้ใช้งานปลอมทำให้ข่าวดังกล่าวแพร่กระจายบนโซเชียลอย่างรวดเร็วจากซีกโลกหนึ่งไปยังซีกโลกหนึ่งในเวลาไม่กี่เสี้ยววินาทีเท่านั้น
เมื่อมีการแผยแพร่ข่าวปลอมจากต้นทาง บัญชีผู้ใช้งานปลอมที่เป็นบอทจะแชร์พร้อมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการส่งต่อโดยผู้ใช้งานจริง
ข้อมูลการป้องกันเรื่องข่าวปลอมจากเฟซบุ๊กเพจ กองปราบปราม ได้ออกมาเตือนและระบุโทษของข้อมูลปลอมน่าสนใจว่า การนำข้อมูลปลอม ข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นการปลอมทั้งหมด หรือแค่บางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จเหล่านั้น ล้วนมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้
– โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง เช่น ข่าวปลอม โฆษณาธุรกิจลูกโซ่ที่หลอกลวงเอาเงินลูกค้า และไม่มีการส่งมอบของให้จริง เป็นต้น มีความผิดตามมาตรา 14(1)
– โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงปลอดภัย มีความผิดตามมาตรา 14(2)
– โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ก่อการร้าย มีความผิดตามมาตรา 14(3)
– โพสต์ข้อมูลลามก ที่ประชาชนเข้าถึงได้ มีความผิดตามมาตรา 14(4)
– เผยแพร่ ส่งต่อข้อมูล ที่รู้แล้วว่าผิด เช่น กด แชร์ ข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ กรณีนี้ก็ถือว่ามีความผิด มีความผิดตามมาตรา 14(5)
หากการะกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนหากกระทบต่อบุคคล จะเป็นความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’ หรือ ‘หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 แทน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ