เมื่อพูดถึงบัตรเครดิต หลายคนอาจจะส่ายหน้า แต่บางคนยังคงถวิลหา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการใช้จ่ายแทนเงินสด ขณะที่สถาบันการเงิน ต่างงัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดลูกค้า โดยมีบางรายที่เตือนให้ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
บัตรเครดิตเครื่องมือหรือสื่อกลางที่ใช้แทนเงินสด ยังคงมีผู้คนนิยมและสนใจทำ บัตรเครดิตกันมาก ภายใต้หลากหลายเหตุผล ทั้ง พกพาได้ง่าย สะดวก ไม่จำเป็นต้องนำเงินสดติดตัว หรือจะด้วยเหตุอย่างไรก็ตาม
ดังนั้น ผู้ที่ใช้บัตรเครดิต จำเป็นต้องมีความรอบคอบ ในการใช้เพื่อมิให้เกิดปัญหาตามมา ก็จะกลายเป็นภาระหนี้สิ้นที่เพิ่มขึ้น หากวันใด วันหนึ่ง ผู้ใช้บัตรมีการใช้จ่ายเกินตัว หรือไม่สามารถชำระเงินคืน ได้ตามกำหนดเวลา
ธุรกิจบัตรเครดิตอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้บริโภคมีสิทธิ ที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๖ เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
เช่น ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บัตรเครดิตทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน การยกเลิกสัญญาหรือการใช้บัตรชั่วคราวผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเหตุผลให้ทราบ
**ข้อคิดก่อนสมัครบัตรเครดิต**
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคล ที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิต คือ มีรายได้จากแหล่งที่มาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท หรือ ๑๘๐,๐๐๐ บาทต่อปี หรือมีเงินฝากเป็นหลักประกันเต็มวงเงินของบัตรเครดิตที่อนุมัติ หรือมีเงินฝากประจำกับธนาคารไม่น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือมีเงินฝากออมทรัพย์ หรือมีเงินลงทุนในตราสารหนี้ หรือเงินลงทุนในกองทุนรวม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๖ เดือน
การประเมินตนเอง ๑. ต้องมีวินัยในตนเอง ระมัดระวังในการใช้จ่าย อย่าใช้จ่ายเกินความสามารถในการ ชำระเงิน ก่อนที่จะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าหรือบริการต้องคิดว่าได้ใช้วงเงินสินเชื่อไปเท่าไหร่แล้ว เป็นหนี้สินอยู่จำนวนเท่าไหร่ และรายได้ที่ได้รับเท่าไหร่ สามารถชำระคืนได้เท่าไหร่ ซึ่งบางคนอาจใช้จ่ายจนเกินตัว เห็นสิ่งใดก็อยากได้จนไม่คำนึงถึงหนี้สินที่กำลังตามมา
๒. ศึกษาข้อมูลการใช้บัตรให้เข้าใจ อาจจะสอบถามจากผู้ให้บริการธนาคาร คอลเซ็นเตอร์ หรือศึกษาด้วยตนเองผ่านคู่มือที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น การเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต สามารถทำได้ แต่ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทันทีตั้งแต่มีการกดเงิน และวิธีการคิดที่ซับซ้อนกว่าการใช้ซื้อสินค้าทั่วไป เป็นต้น ซึ่งการใช้บัตรเครดิตในแต่ละกรณีจะแตกต่างกัน ควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ
๓. เลือกชำระเต็มจำนวนแทนการชำระขั้นต่ำ ในการชำระเงินคืนบัตรเครดิต หากชำระไม่ตรงตามที่กำหนด หรือชำระไม่เต็มจำนวน ธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ย หรือค่าปรับ เพื่อมิให้เป็นภาระกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จึงควรชำระคืนบัตรเครดิตเต็มจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด
๔. เลือกบัตรให้เหมาะสมกับการใช้งาน บัตรเครดิตมีมากมายหลายประเภท แต่ละบัตร ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น ประเภทการใช้บัตรเครดิตดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ที่คิดว่าไม่สามารถใช้จ่ายเงินสดได้เต็มจำนวนในทุกรอบบัญชี หรือบัตรเครดิตสะสมแต้มสำหรับผู้ใช้ที่ชอบการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อแลกแต้ม ของรางวัล หรือเงินสดคืนหลังการใช้จ่ายผ่าน บัตรเครดิต
๕. มีบัตรเครดิตเท่าที่จำเป็น และคิดให้มากก่อนใช้ การมีบัตรเครดิตหลายใบ เกินความจำเป็นนั้น หากมีวินัยในการใช้บัตรเครดิตแล้ว ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น แต่หากไม่มีวินัย หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น อาจทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นจนอาจกลายเป็นปัญหา ที่ไม่สามารถแก้ไขได้
เพราะฉะนั้นเมื่อทำบัตรเครดิตมาแล้วก็ควรคิดก่อนใช้จ่าย เพื่อไม่สร้างปัญหาให้ตัวเราเอง และไม่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค สามารติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือ โทรสายด่วน ๑๑๖๖