ใกล้สิ้นปีทีไรมักมีรายงานหรือสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ในส่วนของผู้บริโภคก็เช่นกันที่จะมีการรายงานในเรื่องดังกล่าว สำหรับปีนี้เรื่องที่ผู้บริโภคถูกกระทำยังคงเป็นปัญหาเดิม ๆที่เกิดขึ้นและมีมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านมาปีแล้วปีเล่า ส่วนรายละเอียดของรายงานที่ว่านี้จะเป็นเช่นไรไปติดตามกันเลย
รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่โดย นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่ออกมาระบุว่าปัญหาเรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้บริโภคสำหรับปีนี้มีการร้องเรียนมากที่สุดในปี 2560 ตั้งแต่ม.ค. – พ.ย. พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,153 ราย โดยเป็นการร้องเรียนผ่านช่องทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ หรือโดยจดหมายเข้ามาด้วยตนเอง อีเมล์ และผ่านทางเฟซบุ๊ก
โดยพบว่าที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งก็คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไปพบว่ามียอดผู้ร้องเรียนเพิ่มขึ้นถึง 41.54% โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า เช่นกรณีการโฆษณาขายกระทะยี่ห้อโคเรียคิงส์ที่มีข้อความโฆษณาระบุการลดราคาจาก 18,000 บาท และ 15,000 บาท ลดราคาเหลือ 3,900 บาท และ 3,300 บาท ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง มีคุณสมบัติทนความร้อนและไม่ต้องใช้น้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อและซื้อสินค้าดังกล่าว แต่เมื่อผู้บริโภคนำมาใช้งานกลับไม่เป็นตามโฆษณาและมาทราบภายหลังว่าราคากระทะดังกล่าวเป็นราคาปลอม เป็นต้น
รวมถึงบริการสถานเสริมความงามที่ซื้อคอร์สบริการแล้วไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ เพราะในข้อสัญญาระบุไว้ว่าไม่สามารถคืนเงินในทุกกรณี อีกทั้งบริการสถานออกกำลังกายที่ปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นต้น
ส่วนอันดับสองยังคงเป็นเรื่องทางด้านการเงินการธนาคารจำนวน 34.69 % ได้แก่ปัญหาจากหนี้บัตรเครดิตที่มีการร้องเรียนมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาการเช่าซื้อรถ อันดับสามด้านบริการสาธารณะคือ การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วเกิดประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้กล่าวต่อถึงรายงานว่าเมื่อนำปัญหาที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบมาวิเคราะห์ทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาที่สำคัญในการร้องเรียนว่า เกิดจากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่ชอบเอารัดเอาเปรียบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนจนทำให้หลงเชื่อโฆษณาซื้อสินค้าและบริการ
อีกทั้งข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ที่สำคัญอีกประการคือหน่วยงานของรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการใช้ช่องทางการในการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่หลากหลายขึ้น เช่นทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม เป็นต้น จึงทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้ามีเป็นจำนวนมากขึ้นด้วย
“อยากเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้ง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภคต่าง ๆ มีมาตรการที่ล้ำหน้าในการแก้ปัญหาผู้บริโภคเชิงนโยบายไม่ใช่แก้ปัญหาเพียงรายกรณีแม้จะมีผู้เสียหายต่อผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกัน
รวมถึงขอให้มีการออกระเบียบหรือเป็นกฎหมายบังคับ การอนุมัติโฆษณาขายสินค้าที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภคเช่น การโฆษณาเครื่องสำอาง โฆษณาอาหารไม่ใช่เปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการด้วยการแค่เพียงขอความร่วมมือซึ่งโดยมากหากไม่บังคับก็จะไม่ปฏิบัติตาม และขอให้ทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาขายของทางโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ เหมือนการออกไปตรวจจับการผลิตเครื่องสำอางต่างๆด้วยเช่นกัน ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคร้องเรียนมาก่อนจึงจะดำเนินการ”
นั่นคือรายงานจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแค่หน่วยงานเดียว ที่พอสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างกับภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งมีด้วยกันหลายหน่วยงานแต่ดูเหมือนว่ายิ่งมีหลายหน่วยงานแต่การให้ความคุ้มครองผู้บริโภคกลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง เพราะปัญหาในเรื่องการร้องเรียนนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น
นี่เป็นเพียงแค่การรายงานของหน่วยงานเดียวเท่านั้น ซึ่งหากย้อนกลับไปดูสถิติการร้องเรียนของหน่วยงานอื่นเช่น กรณีของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จำได้ว่าพล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสคบ. เคยแถลงถึงผลงานสคบ.เมื่อช่วงเดือนเม.ย.- มิ.ย.2560 เพียงแค่ระยะเวลา 3 เดือนเท่านั้น พบว่ามีผู้ร้องเรียนสูงถึง 2,417 เรื่อง เฉพาะเรื่องของสินค้าบริการก็ปาไป 974 เรื่อง ตัวเลขใกล้แตะที่ 1,000 เรื่องเข้าไปแล้ว หากรวมตลอดทั้งปีจะมากมายก่ายกองสักแค่ไหน เป็นเรื่องที่น่าคิด
พร้อม ๆกับการตั้งคำถามที่ตามมาอีกมากมายว่าแล้วจะมีหน่วยงานในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคไปทำไม เพราะในเมื่อหน่วยงานทั้งหลายที่ตั้งขึ้นไม่สามารถบังคับใช้กฏหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด หรือแม้แต่จะทำให้ผู้กระทำผิดเกิดความหลาบจำ กระทั่งสุดท้ายหน่วยงานที่ว่านี้ก็กลายเป็นแค่ “เสือที่มีความน่ากลัวแค่ในแผ่นกระดาษ”
ปีหน้า 2561 ก็คงแอบหวังไว้เล็ก ๆว่า เราจะได้เห็นการทำงานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ปัญหาต่อเรื่องดังกล่าวนี้ได้เบ็ดเสร็จ เด็ดขาดมากขึ้น ภายใต้บริบทตามที่รัฐบาลได้แสดงความมุ่งมั่นอยากคืนความสุขให้กับประชาชน คงไม่ใช่เพียงแค่สายลมที่พัดผ่านไปตามกาลเวลาเหมือนเช่นรัฐบาลก่อน ๆในอดีต