ทีมวิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดี เผยปัญหาภาพรวม 5 กลุ่มเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (เด็ก) ในประเทศไทยที่กำลังเผชิญ
รู้ไหมว่า เด็กๆ ในประเทศไทยปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาด้านผู้บริโภค
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) ได้แบ่งภาพรวมปัญหาเด็กกับการคุ้มครองผู้บริโภคออกมาเป็นเรื่องใหญ่ 5 เรื่อง
- อุบัติเหตุ (unintentional injury) เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน ความร้อน ฯลฯ
- ความรุนแรงและการทำร้ายต่อเด็ก (intentional injury)
- ผลิตภัณฑ์อันตราย (การคุ้มครองผู้บริโภคเด็ก) (child product safety) ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ อยู่ในกลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค
- มลพิษจากสิ่งแวดล้อม (Environmental pediatrics) เช่น ทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย
- ภัยพิบัติ (ภัยธรรมชาติ) (pediatric disaster preparedness) เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้
โดยเฉพาะข้อที่ 3 ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มงานที่เด็กๆ กำลังเผชิญในฐานะการคุ้มครองด้านผู้บริโภค ที่ไม่ได้มาตรฐานบังคับ
ซึ่งสินค้าที่มีปัญหามากที่สุดก็คือ สินค้าในกลุ่มของเล่น เนื่องจากไม่ได้มาตรฐานและกายภาพ (Physical) ก็ไม่เหมาะสมเป็นอันตราย เช่น อาจเกิดการบาดผิว หรือด้านเคมีที่อาจส่งผลต่อการสารเคมีตกค้าง เช่น ตะกั่ว
ส่วนปัญหาที่เจอนั้น ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) พบว่า เกิดจากผู้ผลิตบางรายใช้วิธีเปลี่ยนวัตถุดิบทีหลัง ส่งผลให้คุณภาพผิดไปจากมาตรฐานการส่งตรวจตั้งแต่แรก หรือว่าเป็นเพราะมีการนำเข้าของที่มันไม่อยู่ในการตรวจตั้งแต่แรก โดยที่ตอนแรกนำเข้ามาแบบหนึ่ง ตอนหลังเป็นการนำเข้าแบบอื่นๆ โดยใช้การตรวจผ่านในกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น กลุ่มพลาสติกทั่วไป แต่แบบของเล่นเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งที่ตัวเองได้ผ่านในกลุ่มพลาสติกทั่วไปในของเล่นลักษณะหนึ่ง แต่ผลิตในรุ่นหลังๆ เปลี่ยนลักษณะไปหมด แต่ยังเอาตัว มอก. เดิมมาปะบนฉลากเลย เช่น ปืนอัดลมที่มีกระสุนเม็ดพลาสติกเม็ดสีเหลืองกลม เล็กๆ กระบอกละ 50 – 60 บาท ปรากฏว่า ความเร็ว (ของกระสุนที่ยิงออกไป) ก็เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด แต่พอได้ตรวจสอบเข้าจริง พวกนี้จะไม่ใช่ของเล่นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมถือว่า ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งเทียมอาวุธ หรือปืนฉีดน้ำที่สถานภาพตอนนี้ไม่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มของเล่น ปืนอัดลมก็ไม่ใช่ของเล่น ตัวดูดขยายก็ไม่ใช่ของเล่น พวกของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ใส่น้ำยาเคมีลงไปเกิดฟองฟู่ขึ้นมาคล้ายเป็นภูเขาไฟ ถ้าอันนี้ถือเป็นของเล่นเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “ของเล่น” ตามนิยามกฎหมาย แต่เป็นอุปกรณ์การศึกษา
บางทีผู้ผลิต “ของเล่น” ก็อาจไปให้นิยามตัวเองว่า เป็นของประดับ เช่น ตุ๊กตาบางอย่าง ไปลงฉลากว่า เป็นของฝากของประดับแล้วก็หลบหลีกจากนิยามของเล่นกันหมด ดังนั้นจึงพบว่าของเล่นอีกหลายประเภทก็ใช้วิธีการนิยามว่า ไม่ใช่ของเล่น แต่เวลาไปวางขายกลับไปอยู่ในชั้นของเล่น
แม้แต่พวกโมเดลเครื่องบินและรถยนต์ที่บอกตั้งโชว์ ก็ไปวางไว้ในชั้นของเล่น และพวกนี้ก็มีอันตรายไม่ได้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม สถานการณ์ปัจจุบันจึงทำให้มีสินค้าสำหรับเด็กหลายประเภทที่เป็นสินค้าจัดกลุ่มในหมวดสินค้าอันตรายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค
นอกจากนี้ เนื่องจากสถานการและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมากทำให้ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ก็มีการละเมิดความปลอดภัยในเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะการเข้าไปควบคุมโลกอินเทอร์เน็ตทีอาจทำให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อาทิ การที่เด็ก 1 คนสามารถที่เข้าไปดูภาพโป๊ด้วยการพิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว โดยเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งคุณครูบอกให้ส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊ค ขณะเดียวกันกดอีกทีก็เป็น “ภาพโป๊แทน” แบบนี้ก็ได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของการคัดกรองเนื้อหาบน Social Media ของอัลกอริทึ่มจากแพลตฟอร์ม แม้เกมส์หรือ Social Media จะจัดเรตติ้ง 13 – 18 ปี แต่ก็เด็กก็สามารถโหลดใช้งานได้อยู่ดีเพราะตัวระบบไม่ได้ป้องกันทั้งหมด