พบกับ ‘กฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action’ กับความยุติธรรมที่คนธรรมดาเข้าถึงได้ เมื่อถึงวันที่ผู้บริโภคจะสู้กับยักษ์
เงินแค่ไม่เท่าไหร่คิดซะว่าฟาดเคราะห์
‘ช่างมัน’
‘คิดซะว่าทำบุญ’
การฟ้องร้องจึงดูเป็นเรื่องที่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก พาลทำให้หลายครั้งผู้บริโภคจึงมักเลือกที่จะทนๆ กันไป หรือแม้กระทั่งกลัวว่าฟ้องไปแล้วจะแพ้ เพราะว่าทนายที่จ้างมาอาจสู้อีกฝ่ายไม่ได้
คนตัวเล็กๆ อย่างเราจะไปสู้บริษัทใหญ่ได้อย่างไร?
Beevoice อยากจะบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องทนเพราะประเทศไทยมีกฎหมายที่ชื่อว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือเรียกแบบสั้นๆ ว่า ‘คดี Class Action’ ซึ่งมีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว เพื่อช่วยให้คนตัวเล็กๆ สู้กับเหล่ายักษ์ได้
กฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ ‘Class Action’ คืออะไร
กฎหมายนี้ถูกผลักดันโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยได้ทำการศึกษากฎหมายฉบับนี้มาจากหลายประเทศทั้ง สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย จีน และบราซิล เพื่อให้ผู้เสียหายและผู้ถือหุ้นรายย่อยฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทใหญ่ได้ เช่น หากผู้ถือหุ้นรายย่อยฟ้องคดีที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนตกแต่งบัญชี เพื่อเรียกค่าเสียหายแล้วใช้วิธีต่างคนต่างฟ้องแบบเดิม อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายและต้องเสียเวลา ยิ่งหุ้นมีน้อยยิ่งไม่คุ้ม แต่วิธีการฟ้องคดี Class Action แบบนี้ หากชนะคดีผู้เสียหายทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่ม ก็จะได้รับส่วนแบ่งค่าเสียหายไปด้วย ทำให้ลดทั้งค่าใช้จ่ายและระยะเวลารวมของการฟ้องร้องคดีลงได้อย่างมาก
คดี Class Action ไม่ได้ครอบคลุมแค่การฟ้องร้องในคดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาคดี ได้เห็นชอบว่ากฎหมายที่ ก.ล.ต. เสนอมานั้นควรครอบคลุมไปถึงคดีละเมิดสัญญา คดีผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภคแรงงาน และการแข่งขันทางการค้า
ส่งผลให้กลายเป็นเครื่องมือใหม่เพื่อช่วยให้กลุ่มคนตัวเล็กรวมพลังกันสู้กับยักษ์ได้และได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกับการที่ทำให้การฟ้องคดีแบบกลุ่ม พัฒนามากกว่าการฟ้องร้องของผู้ถือหุ้นและบริษัท สู่การต่อสู่เพื่อสิทธิพลเมือง สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ ‘การคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่อกรกับกลุ่มผู้ประกอบการได้อย่างสูสี’
เช่น หากศาลมีการพิจารณาว่า มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากเพียงพอ เช่น 2 คน 10 คน 100 คน หรือ 10,000 คนก็ตาม ที่ได้รับความเสียหายจากข้อเท็จจริงเดียวกัน ในกฎหมายคดีละเมิดสัญญา คดีผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น ผู้ถือหลักทรัพย์ ณ ขณะที่มีการละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภคแรงงาน และการแข่งขันทางการค้านั้น เมื่อตัวแทนที่เป็นโจทก์ยืนฟ้องมาแล้วศาลเห็นควรว่าน่าจะประกาศให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากการเห็นว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีแพ่งสามัญที่ชาวบ้านผู้เสียหายแต่ละคนจะต้องมาฟ้องร้องกันเป็นคดีเดี่ยวๆ จำนวน 10,000 คดี จะส่งผลให้กลุ่มคนที่ได้รับความเสียหายแม้ไม่ได้ฟ้องเองมีเพียงแค่โจทก์เดียวก็คือว่าได้รับการคุ้มครองความเสียหายทั้งหมด
นอกจากนี้ คดี Class Action ยังมีการจูงใจให้ทนายความฝ่ายกลุ่มผู้เสียหายเป็นเงินรางวัล ที่ฝ่ายคู่กรณีจะต้องจ่ายถ้าแพ้คดี ซึ่งทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินคดี แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ
อ้างอิงข้อมูลและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กระทรวงยุติธรรม.2560.https://www.moj.go.th/view/7947
จิรดา จงจักรพันธ์.2558.https://ilaw.or.th/node/3414