นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าจับตา เมื่อ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง (Dr.Peerapat Foithong), CFP ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย / นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ได้ออกมาเผยแพร่กรณีคดีหนึ่งที่มีแฮซแทกที่ว่า #คดีเพิงหมาแหงน โดยทนายความชื่อได้อธิบายเรื่องราวทั้งหมดว่า เคยไหมครับที่เราซื้ออะไรอย่างหนึ่ง.. แต่สิ่งที่ได้มาไม่ตรงกับในรูปที่โฆษณาไว้ สมมุติว่าเราอยากซื้อคอนโดสักห้องหนึ่ง เราก็คงตัดสินใจจากทำเลที่ตั้ง ราคา สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ
แล้วถ้าเกิดคอนโดที่เราซื้อไปแล้ว.. มีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ล่ะ เราจะทำอย่างไรดี ?
ก. ด่าคนขาย และประจานลงโลกโซเชี่ยลมีเดีย
ข. ทำใจยอมรับมัน แล้วคิดว่าเราโง่เอง
ค. ฟ้องคดี เพื่อทวงความเป็นธรรมของเราเอง
—————————————
หลายคนอาจจะคิดว่าเราต้องฟ้องซิ อย่าไปยอมให้เขาเอาเปรียบเราง่าย ๆ
แต่ในความเป็นจริง การที่ผู้บริโภคจะฟ้องผู้ประกอบการในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่โดนเอาเปรียบได้นั้น เกิดขึ้นยากมาก ถึงมากที่สุด
สาเหตุก็เพราะ
ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่เราอาจจะได้ เช่น เราจ้างทนายไป 3 หมื่นบาท แต่ค่าเสียหายที่ได้มานั้นมูลค่า 2-3 หมื่นเท่านั้น
พอถึงขี้นตอนนี้ ผู้เสียหายหลายคนก็ถอดใจไม่ฟ้องคดีแล้ว เพราะไม่อยากเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา
—————————————
คดีเพิงหมาแหงนที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้ก็เป็นคดีที่ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง รู้สึกว่าผู้ประกอบการเอาเปรียบเช่นกัน
คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า.. มีผู้ไปซื้อคอนโดของโครงการ ไมเนอร์สนามบินน้ำ
โดยเจ้าของโครงการนี้ ได้มีการโฆษณาว่าหน้าโครงการนั้น จะมีการสร้างคอมมิวนิตี้มอล ที่มีร้านอาหาร ธนาคาร ร้านค้า ฯลฯ (ดูภาพประกอบด้านล่าง – สิ่งที่โฆษณา)
แต่ปรากฎว่าหลังจากที่คอนโดแห่งนี้สร้างเสร็จ.. เจ้าของโครงการก็ไม่ได้มีการสร้างคอมมิวนิตี้มอลนี้เหมือนที่โฆษณาไว้
โดยหน้าโครงการหลังสร้างเสร็จมีการทำเป็นร้านค้าให้เช่าที่ไม่ได้มีความสวยงามเหมือนที่โฆษณาไว้ (ดูภาพประกอบด้านล่าง – ความจริง)
ลูกบ้านกลุ่มหนึ่งก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังโดนเอาเปรียบ!!
เพราะซื้อคอนโดนี้มาโดยหวังว่าจะมีคอมมิวนิตี้มอลดี ๆ รวมร้านค้า ร้านอาหาร ช่วยให้คนในคอนโดได้รับความสะดวกสบาย
สิ่งที่ได้มาในความเป็นจริง กลับเป็น อาคารแบบเพิงหมาแหงน มีร้านค้าเพียง 5 ร้านเท่านั้น
พูดภาษาบ้าน ๆ ปัจจุบัน ก็คือ #ไม่ตรงปก นั่นเอง
ลูกบ้านบางส่วนจึงได้เรียกร้องให้เจ้าของโครงการสร้างคอมมิวนิตี้มอลตามที่โฆษณาไว้
แต่เจ้าของโครงการกลับปฏิเสธ.. โดยมีเหตุผลต่าง ๆ นานา
กลุ่มลูกบ้านเมื่อเห็นว่าการเจรจาไม่สำเร็จ จึงได้มีการรวมกลุ่มกันไปฟ้องศาล เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการที่ซื้อคอนโดไปแล้วแต่ปรากฎว่า สิ่งที่ได้มานั้นไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้
ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้เจ้าของโครงการชดใช้ค่าเสียหายให้กับลูกบ้านพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
และไม่เพียงแต่ลูกบ้านที่ฟ้องคดีเท่านั้นนะครับที่ได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหาย .. แต่ศาลยังสั่งให้เจ้าของโครงการชดใช้ค่าเสียหายให้กับ ลูกบ้านทุกคนที่ซื้อคอนโดนี้ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2559
โดยลูกบ้านทุกคนที่มีสิทธิได้เงินจะต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี (ดูรายละเอียดตามประกาศได้เลยครับ)
เห็นไหมครับว่าปัจจุบัน ผู้บริโภคก็มีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
ถ้าอยากรู้ว่าเพราะอะไร ลองอ่านเกร็ดความรู้ในย่อหน้าถัดไปได้เลยครับ
—————————————
[เกร็ดความรู้เพิ่มเติมจากคดีเพิงหมาแหงน]
ถ้าเป็นยุคก่อน.. ลูกบ้านกลุ่มนี้อาจจะไม่ไปฟ้องคดีก็ได้ครับ เพราะต่างคนต้องต่างไปฟ้อง เสียค่าทนายกันเอง
แต่ปัจจุบันเรามีกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า #การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action ที่ช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถรวมกลุ่มกันฟ้องคดีได้
ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย เพราะทนายนอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินรางวัลส่วนแบ่งจากการเป็น ทนายของกลุ่มด้วย (ศาลให้ได้สูงสุดถึง 30% ของค่าเสียหายที่ผู้เสียหายจะได้)
ในคดีนี้ โค้ชพี่ป๊อบ หนึ่งในลูกบ้านและเป็นแกนนำในการสู้คดีได้ทักมาคุยกับผมหลังไมค์ตอนที่ผมทำ Startup ที่ชื่อว่า FongDi – ฟ้องได้ (ตอนนี้ไม่มีเวลาและกำลังคนไปอัพเดทและทำต่อ – มีใครอยากช่วยทำติดต่อได้นะครับ)
โค้ชป๊อบเล่าให้ฟังว่า เห็นผมพูดในรายการทีวีหนึ่งแล้วชอบใจคอนเซปท์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาก เลยอยากรู้กระบวนการและอยากให้ผมไปดูสถานที่จริง
ผมก็ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ตอนที่ลูกบ้านคุยกับเจ้าของโครงการ ที่คอนโดแห่งนั้น (ซึ่งดุเด็ดเผ็ดมันมาก) แล้วหลังจากนั้นโค้ชป๊อบก็ได้ร่วมกับลูกบ้านกลุ่มหนึ่งจัดหาทนายความไปฟ้องคดีนี้เป็นคดีกลุ่ม
แล้วก็คอยอัพเดทคดีนี้ให้ผมฟังเรื่อยมา ..
ในที่สุดกลุ่มลูกบ้านนี้ก็สามารถเอาชนะผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ได้ตามที่ผมเล่าให้ฟังนี่แหละครับ
ขอแสดงความยินดีกับโค้ชป๊อบและลูกบ้านทุกคนที่ต่อสู้ทวงความเป็นธรรมกลับมาได้นะครับ