เอ็ตด้า (ETDA) แนะนำเคล็ดลับให้ผู้บริโภค สังเกตข่าวปลอมบนโลกออนไลน์
แหม่ อย่างที่ทราบกันดีนั่นแหละว่า หลายปีมานี้ การที่เฟซบุ๊กพยายามปรับอัลกอรทึ่มอยู่เรื่อยๆ สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการจัดการกับปัญหา ข่าวปลอม facebook ซึ่งมันกลายเป็นปัญหาใหญ่มากให้กับคนที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ หลายครั้งมันสร้างความเสียหายระดับประเทศ เช่น ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง สร้างความปั่นป่วนตลาดหุ้น การก่อการร้าย ฯลฯ
Fake News คืออะไร?
ปัญหาข่าวปลอมกลายเป็นวาระสำคัญของโลก โดยเฉพาะในปี 2017 ที่พจนานุกรมภาษาอังกฤษ คอลลินส์ (Collins) ยกให้คำว่า ‘Fake News’ หรือ ‘ข่าวปลอม’ เป็นหนึ่งในคำแห่งปี เมื่อปี 2017 จากการที่ อัตราการใช้คำว่า ‘Fake News’ ได้เพิ่มขึ้นถึง 365% ในเชิงตลกขบขันและเสียดสีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มักทวีตข้อความโจมตีการรายงานของสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเขาว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’ อย่างไรก็ตามความหมายของคำว่าข่าวปลอมหรือ Fake News นั้นอาจกล่าวว่าเป็นเรื่องราวที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อและมั่นคงของคนในสังคม
วิธีสังเกตข่าวปลอมบนโลกออนไลน์
ปัจจุบันการจัดการกับปัญหาข้อมูลเท็จและข่าวปลอมเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ได้ให้ข้อมูลในการสังเกตข่าวปลอมออนไลน์ร่วมกับเฟซบุ๊ก ดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนการแชร์เสมอ
พิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล จากการเริ่มต้นตรวจสอบเนื้อหาอื่นๆ ที่ถูกนำเสนออยู่บนเว็บไซต์ แง่มุมการนำเสนอเนื้อหา-ข่าว รายละเอียดติดต่ออื่นๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ โดยควรระวังเว็บไซต์ปลอมที่แสร้งว่าเป็นองค์กรข่าวที่ดูน่าเชื่อถือ มักใช้วิธีเลียนแบบรูปแบบการจัดหน้าและการใช้ URL ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน
2. ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน
ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้เขียนว่าเป็นบุคคลที่น่าเชื่อหรือมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ป็นบุคลากรที่อยู่ในแวดวงการรายงานข่าวมาเป็นระยะเวลามากน้อยอย่างไร อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบด้วยการอ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันได้
ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุนเสมอว่า ข้อมูลประกอบในบทความนั้น สนับสนุนเนื้อหาหลักของเรื่องราวอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือข้อมูลที่ถูกหยิบมาเพียงแค่บางส่วน หรือออกนอกบริบทสามารถนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงได้
ตรวจสอบวันที่ ที่เนื้อหาถูกตีพิมพ์ เพรามักพบเห็นผู้คนแชร์ ‘ข่าว’ เก่าอยู่บ่อยครั้งบนโซเชียลมีเดีย ข่าวเก่าอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ถูกต้องเสมอไป ทั้ง ข่าวปลอมอาจประกอบด้วยการรายงานช่วงเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลวันที่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นด้วย
3. อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว
ข่าวปลอมและข่าวที่มีคุณภาพต่ำ มักมีการพาดหัวข่าวที่กระตุ้นความรู้สึกเพื่อให้เกิดจำนวนการคลิกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Click bait) เนื้อหาของข่าวปลอม ประกอบด้วยภาษาที่กระตุ้นอารมณ์และบางครั้งอาจเป็นภาษาที่ใช้คำรุนแรง รวมถึงใช้วิธีการเขียนที่ผิดหลักภาษาและมีการสะกดคำผิด
อีกกลวิธีที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีคุณภาพต่ำคือ การหาผลประโยชน์จากพฤติกรรม ‘นักอ่านเวลาน้อย’ เมื่อผู้คนมักใช้เวลาอ่านเพียงพาดหัวข่าวหรือข้อความในย่อหน้าแรกก่อนแชร์เรื่องราวนั้นต่อ ผู้ประสงค์ร้ายจึงฉวยโอกาสนี้ด้วยการเขียนพาดหัวข่าวและย่อหน้าแรกที่ตรงไปตรงมาและประกอบด้วยข้อเท็จจริง โดยเรื่องราวส่วนที่เหลือเป็นข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
ความหมายของ Clickbait คือ การใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัยใคร่รู้ หรือจูงใจให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปคลิกเข้าไปอ่าน ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่มีอะไรเลย แต่การพาดหัวทำให้คนหลงกลคลิกเข้าไปเพื่อเรียกยอด Traffic ในเว็บไซต์
4. แยกแยะระหว่างการแสดงความคิดเห็นและข่าว
คนมักมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตน ก่อนที่จะระบุว่าเรื่องราวใดๆ ‘ไม่เป็นความจริง’ ควรไตร่ตรองให้ดีว่า อคติส่วนตัวไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวในขณะนั้น
เคล็ดลับ : หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความที่ปรากฏชื่อผู้เขียน (by-line) ควรคำนึงไว้ว่าผู้เขียนคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาทั้งหมด และคุณควรตรวจสอบบทความอื่นๆ ที่ผู้เขียนคนดังกล่าวเขียนด้วย
หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความแสดงความคิดเห็นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือตัวแทนจากองค์กร (op-ed) ควรคาดการณ์ไว้ก่อนว่า บทความอาจมีเนื้อหาที่ลำเอียงหรือมีอคติ แม้ว่าจะประกอบด้วยข้อเท็จจริง แต่เนื้อหาประเภทนี้มักสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนหรือหน่วยงานและมีบทสรุปแบบไม่เป็นกลาง
5. คิดเชิงวิเคราะห์
เรื่องราวบางเรื่องถูกจงใจสร้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้น ถ้าจะแชร์ข่าวที่มั่นใจว่าเป็นข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น ด้วยการคิดวิเคราะห์และพิจารณาบริบทอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เคล็ดลับ : ข่าวปลอมมักจะประกอบด้วยภาพหรือวิดีโอที่ถูกปรับแต่ง ในบางครั้ง รูปภาพนั้นอาจเป็นรูปภาพที่แท้จริง แต่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงบริบท สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันที่มาที่ถูกต้อง