ถกทุกข้อสงสัย กกต.และสมาคมนักข่าวล้อมวงน้ำชา ‘ชี้ขอบเขตโฆษณาเลือกตั้งออนไลน์’ สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้!
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาจิบน้ำชา ครั้งที่ 1/2562 หัวข้อ ชี้ชัด ขอบเขตเลือกตั้งออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร.ต.อ. ชนินทร์ น้อยเล็ก ผอ.สำนักกฎหมายและคดี สำนักงาน กกต. ตามมาด้วย ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและผู้อำนวยการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินวงเสวนาโดยคุณกาญจนา นิตน์เมธา รองบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์

คุณกาญจนา นิตน์เมธา รองบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์ (ซ้ายสุด) ร.ต.อ. ชนินทร์ น้อยเล็ก ผอ.สำนักกฎหมายและคดี สำนักงาน กกต. (ตรงกลาง) ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและผู้อำนวยการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ขวาสุด)
เมื่อดูตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกมาผ่านราชกิจจานุเบกษา จะพบข้อกำหนดสำคัญต่อไปนี้
งบหาเสียง
- สส.แบ่งเขต ใช้จ่ายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/คน
- พรรค ใช้จ่ายไม่เกิน 35 ล้านบาท
วิธีการหาเสียงที่ทำได้
- ป้ายหาเสียง
- รถ-เวทีปราศรัย
- สื่อสังคมออนไลน์
วิธีการที่ทำไม่ได้
- ห้ามใช้นักแสดง พิธีกร นักร้อง นักดนตรี สื่อมวลชน เอื้อประโยชน์ในการหาเสียง
- ห้ามหาเสียงโดยใช้ Hate speech ห้ามปลุกระดม ห้ามใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง
- ห้ามหาเสียงโดยโจมตีใส่ร้ายป้ายสี สร้างข้อความเท็จ หรือ ‘เจตนา’ เข้าข่ายกฎหมายอาญาหมิ่นประมาททั้งจริงและเท็จ หรือความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์
- ห้ามหาเสียงโดยหวังผลทางการเมืองผ่านการช่วยเหลือทางทรัพย์สินผ่านซองงานบุญ งานบวช งานแต่ง หรืองานศพ เป็นต้น
- ห้ามแจกเอกสารหาเสียงโดยการโปรยหรือวางในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ เองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะ Social Media ต่างๆ ทำให้ กกต. เองก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่ง คุณกาญจนา นิตน์เมธา รองบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์ ได้เปิดประเด็นคำถามถึงพรรคการเมืองปัจจุบัน ได้มีการทำตามกฎระเบียบที่ออกมาของทาง กกต. หรือไม่ โดย ร.ต.อ. ชนินทร์ ได้ชี้แจงจุดนี้ว่า ปกติแล้วพรรคการเมืองและผู้ลงเลือกตั้งต้องมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่ทำการโฆษณาทั้งหมดว่าใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ อย่างที่เป็นไปตามราชกิจจานุเบกษาว่า ตัวผู้สมัครต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ส่วนพรรคต้องไม่เกิน 35 ล้านบาท
ขณะที่ ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร ได้ตั้งคำถามถึงประเด็นเหล่าแม่ยก หรือแฟนคลับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ที่เข้ามาช่วยหาเสียง แบบที่พรรคหรือผู้สมัครไม่รู้นั้น เข้าข่ายต้องระวังเรื่องใดบ้างไหม ซึ่งทาง ร.ต.อ. ชนินทร์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีที่ฐานแฟนคลับนักการเมืองช่วยโปรโม หากมีการช่วยหาเสียงแม้ว่าตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่รู้ ซึ่งหากถ้าฐานเสียงเหล่านี้ช่วยโปรโมทและมีการใช้งบโปรโมทเกิน 10,000 บาท จะต้องแจ้งกับทาง กกต. เพื่อนับรวมอยู่ในงบประมาณหาเสียงผู้สมัครหรือพรรคการเมืองก็ว่ากันตามวาระหรือเจตนา
“กกต. ตั้ง War room 24 ชม. ใช้ social monitoring เฝ้าโพสต์การหาเสียงโดยเฉพาะ ร่วมมือกับ กสทช. ICT สนง.ตำรวจแห่งชาติ” ผอ.สำนักกฎหมายและคดี สำนักงาน กกต.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.อุดมธิปก ยังตั้งคำถามถึงเรื่องการห้ามหาเสียงก่อนวันเลือกตั้งหลัง 18.00 น. อีกว่า โพสต์ที่พรรคการเมืองโพสต์ไปก่อนหน้านี้นั้น แน่นอนว่าการซื้อโฆษณาหลัง 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้งไม่สามารถทำได้แน่ แต่ถ้ามีประชาชน ไปกดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ ให้โพสต์นั้นแสดงหน้า Feed จะถือเข้าข่ายความผิดหรือไม่
ผอ.สำนักกฎหมายและคดี สำนักงาน กกต. แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นคำถามดังกล่าวว่า ทุกการกระทำไม่ว่าจะเป็นกองเชียร์ ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือดารานักร้อง กกต.จะดูที่เจตนาเป็นหลัก ถ้าทำไปมุ่งหวังเจตนาให้เป็นการแสดงโฆษณาเท่ากับปิดอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เจตนาก็ไม่ผิด เนื่องจากการที่โพสต์หาเสียงก่อนเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้งนั้น ก็เหมือนการตั้งป้ายหาเสียงที่ตั้งตามข้างถนนก่อนที่จะห้ามโฆษณาหลังเวลา 18.00 น. ก่อนการเลือกตั้งนั่นแหละ กกต. เข้าใจว่าคงไม่มีใครไปเก็บป้ายหาเสียงทัน ทุกอย่างอยู่ที่เจตนาเป็นหลัก
สำหรับข้อควรระวัง ต่างๆ นั้น ร.ต.อ. ชนินทร์ แนะนำว่า การหาเสียงบนโลกออนไลน์ก็เหมือนกับการหาเสียงแบบสื่อปกติ ถ้าหาเสียงธรรมดาพูดกันเรื่อง ‘นโยบาย’ ไม่มีการใส่ร้ายป้ายสีสร้างข้อความเท็จ หากไม่มีแบบนี้ก็หาเสียงได้ แต่ต้องแจ้งกับ กกต. ว่ามีสื่อใดบ้างที่พรรคหรือผู้สมัครใช้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นบัญชี Official แต่ปัญหาที่เจอที่ผ่านมาคือ คนที่ไม่ใช่ผู้สมัคร ทั้งประสงค์ดีช่วยหาเสียงเป็นแฟนคลับหรือผู้ไม่ประสงค์ดี อย่าง IO หรือ Information Operation จิตวิทยามวลชน และภาพมายาทางทหาร เพื่อสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม โดยการควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ศัตรูได้รับจากพรรคการเมืองหรือทางรัฐ ที่โจมตีกันไปมานั้น ส่วนใหญ่จะสร้างปัญหามาก เนื่องจากพวกนี้ส่วนมากจะเป็นการใส่ร้ายจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท หรือผิด พรบ.คอมฯ ส่วนจะผิดถึงพรรคไหมอันนี้ก็อยู่ที่การนำสืบพยานหลักฐานต่างๆ ถ้าถึงก็ถึงแต่ไม่ถึงก็อาจไม่เกี่ยวกับพรรค ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ ที่น่าห่วงคือประชาชนที่แชร์ ไลก์ คอมเมนต์ ข้อความโจมตีหรือเหยื่อ IO หรือ Fake News หรือข้อความใส่ร้าย หรือเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาท สร้างความแตกแยกนั้น จะโดนไปด้วย รับโทษ 1 ใน 3 เห็นอะไรมาก็อ่านเฉยๆ อย่าไปกดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ เสี่ยงโดนคดีไปด้วย
ดร. อุมดมธิปก ยังถามถึงประเด็นความร่วมระหว่าง กกต. กลับแพลตฟอร์มต่างๆ อีกว่ามีความร่วมมือใดๆ เกิดขึ้นบ้าง ซึ่ง ร.ต.อ. ชนินทร์ ได้อธิบายว่า กกต. ได้มีการพูดคุยกับแพลตฟอร์มทั้ง Line Google และ Facebook เพื่อข้อความร่วมมือว่า มีข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎการเลือกตั้งจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งแพลตฟอร์มก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ถ้าจะขออะไรก็ขอให้ชัดเจน เช่น หากข้อความยังอยู่ในไทยก็สามารถช่วยลบได้ แต่หากออกนอกไทยแล้วอาจต้องทำจดหมายเป็นทางการมาก ชี้แจงและใช้เวลาพอสมควร

ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและผู้อำนวยการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ วงเสวนายังแสดงความคิดเห็นตรงกันอีกว่า ขอให้หาเสียงกันด้วยการแข่งขันนโยบายดีกว่า คนที่เป็นกองเชียร์ก็แชร์ ไลก์ คอมเมนต์ กันแต่เรื่องดีๆ อย่าไปแชร์เรื่องไม่จริง เรื่องเป็นผลเสียของผู้อื่น ตรงนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานบ้านเมืองต้องตรวจสอบอยู่แล้ว ผู้เสียหายก็ต้องดำเนินคดี ไม่มีใครอยากโดนด่าฟรี ข้อความที่มันไม่สร้างสรรค์ รบกวนว่าอย่าไปแชร์ต่อคอมเมนต์ต่อ มีผลทั้งร้ายทั้งนั้น
อนึ่ง ในคืนวันก่อนเลือกตั้ง ที่ห้ามหาเสียงหลัง 18.00 น. เป็นต้นไป แม้ไม่ใช่ผู้สมัคร แต่เป็นกองเชียร์ ชาวเน็ต ประชาชน ถ้าโพสต์ ไลก์ คอมเมนต์ แชร์ ทั้งนโยบาย หรืออะไรที่ชวนเชียร์ผู้สมัคร ก็อาจมีความเสี่ยงผิดกฎการเลือกตั้งไปด้วย

คุณกาญจนา นิตน์เมธา รองบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์ (ซ้ายสุด) ร.ต.อ. ชนินทร์ น้อยเล็ก ผอ.สำนักกฎหมายและคดี สำนักงาน กกต. (ตรงกลาง) ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและผู้อำนวยการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ขวาสุด)