ธันวาคม 22, 2017 772 Views 7 กลโกง“แชร์ลูกโซ่”กลยุทธ์ล่อแมงเม่าเข้ากองไฟ by Admin ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปียังมีการแจ้งเตือนกันมาตลอด ตราบใดที่... Read More ห้องไม่เรียบร้อย ไม่รับโอน! มาดูวิธี ‘ตรวจรับคอนโด’ ง่ายๆ ด้วยตัวเอง “โดนยกเลิกเที่ยวบิน” สิทธิที่ผู้บริโภคได้รับ ???? ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปียังมีการแจ้งเตือนกันมาตลอด ตราบใดที่คนในสังคมยังคงความโลภ อยากรวยโดยไม่ดูเหตุดูผลหรือพินิจพิจารณากันให้ถ่องแท้ ตราบนั้นธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่”ก็ยังคงเบ่งบานอยู่เช่นนั้นตลอด และยังคงมีการร้องเรียนกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบยังคงเตือนภัย ประชาสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่อาจสกัดเรื่องของแชร์ลูกโซ่ที่เกิดขึ้นจากความอยาก ความโลภของคนในสังคมได้ ก่อนหน้านี้ Bee Voice ได้นำเสนอเรื่องข้อเปรียบทียบระหว่างธุรกิจขายตรงกับแชร์ลูกโซ่ไปแล้ว เชื่อว่าคงจะเป็นประโยชน์และเตือนสติใครต่อใครได้ไม่มากก็น้อย ถึงตอนนี้ก็ขอนำเอาบทความดี ๆจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสคบ.สาร แม้ว่าบทความชิ้นนี้จะผ่านกาลเวลามา 2 ปี แต่สำหรับรูปแบบหรือกลยุทธ์ในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้สักเท่าไรนัก ไปดูกันเลยว่ากลโกง 7 รูปแบบของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่มักมีการใช้ ส่วนจะมีประเด็นอะไรกันบ้าง รูปแบบที่1 แอบอ้างชื่อผู้มีอิทธิพล ในบทความดังกล่าวระบุว่า นี่เป็นกลวิธีแนบเนียนที่สุดทำให้คนตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อได้โดยง่าย นั่นคือการแอบอ้างชื่อผู้มีอำนาจหรือมีชื่อเสียง โดยทำให้เหยื่อเชื่อว่าสามารถเอื้อประโยชน์กับคนใดคนหนึ่งได้ เพราะความคาดหวังในโอกาสของความร่ำรวยจากอำนาจของบุคคลนั้นๆ รูปแบบที่ 2 ใช้โซเชียลมีเดียล่อเหยื่อ กลวิธีนี้จะเล็งหรือล็อคเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษาแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่มีรายได้ แต่ก็เป็นกลุ่มที่หลงเชื่อง่าย เนื่องจากขาดประสบการณ์ทำให้เชื่อใจคนง่าย อยากรวย อยากสบาย วิธีการก็คือจะชักชวนในลักษณะใช้คนในกลุ่มเพื่อนเฟซบุ๊ก หรือรุ่นพี่ที่เป็นไอดอลแชร์ข้อมูลโชว์ตัวเลขรายได้ในสมุดบัญชี และยืนยันว่าไม่หลอกลวง ได้ผลตอบแทนจริง โชว์ความเป็นอยู่ที่หรูหรารายได้ดี ได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือใช้สิ่งของที่มีราคาแพง ๆ รวมถึงการเขียนเชียร์ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไปในโลกโซเชียลมีเดียและชุมชนออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทำให้เกิดการขยายของธุรกิจอย่างง่ายดาย โดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ้างนั้นเป็นสินค้าที่อยู่ในความสนใจเช่น เครื่องสำอาง วิตามิน อาหารเสริมเพื่อความงาม น้ำมันหอมระเหย ฯลฯซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความนิยม แต่จะไม่เน้นการขายเน้นให้มีการจ่ายค่าสมาชิกซึ่งมีตั้งแต่ 3,000 – 20,000บาท และให้หาสมาชิกเพิ่มขึ้น รูปแบบที่ 3 ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งดึงดูด สำหรับในรูปแบบนี้กลุ่มเป้าหมายจะเน้นไปที่กลุ่มคนทำงานที่ใช้สื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมักจะหลงกลตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่นี้ โดยการในการเข้าถึงก็คือจะใช้วิธีการเชิญชวนผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียให้คนกลุ่มนี้มาร่วมลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยการล่อเหยื่อนั้นจะมีการเสนอให้เห็นถึงผลตอบแทนที่สูง ซึ่งจะมีทั้งการจ่ายเงินปันผลเข้าในบัญชีการลงทุนทุกเดือน อัตราขั้นต่ำ 2-10% ต่อเดือน ขณะเดียวกันหากผู้ลงทุนปรับสถานะตัวเองเป็น IB (Introduce Broker) หรือตัวแทนในการชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนก็จะได้รับผลประโยชน์กลับคืนอีกส่วนหนึ่งด้วย รูปแบบที่ 4 ใช้สินค้าเกษตรเป็นตัวล่อ รูปแบบนี้จะล่อเหยื่อให้มาลงทุนในกองทุนสินค้าเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายปีแล้วแต่ปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนรูปแบบและมีวิธีการใหม่ ๆอย่างต่อเนื่อง และใช้การคืนเงินบางส่วนในระยะแรก ๆเช่นคืนผลตอบแทนถึง 5% ต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้ลงทุนวางใจว่าได้รับผลตอบแทนจริง โดยเข้าใจว่าเป็นดอกเบี้ย และชักชวนผู้อื่นมาลงทุนด้วย เพราะเห็นประโยชน์จากผลตอบแทน เมื่อมีการลงทุนมากขึ้นกองทุนดังกล่าวก็ปิดตัวลง ไม่มีผู้รับผิดชอบ สร้างความเดือดร้อนในการติดตามและดำเนินคดีสินค้าเกษตรที่จะนำมาเป็นจุดขายในการดึงคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะมีการลงทุนในพืชการเกษตรที่มีการปั่นในตลาดจนกลายเป็นที่ต้องการของตลาด เช่นลงทุนในมะม่วง ไม้สัก พันธุ์ไม้กฤษณา เป็นต้น รูปแบบที่ 5 ขายฝันระดมทุนตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในรูปแบบดังกล่าวนี้จะเข้ามาในลักษณะบริษัทข้ามชาติจากประเทศจีนและมาเลเซีย ด้วยการวางแผนธุรกิจระดมทุนขั้นต่ำ 6,000 บาท โดยให้สิทธิสมาชิกในการถือหุ้นในบริษัทและอาจมีสินค้าที่จำหน่าย ซึ่งสมาชิกสามารถซื้อได้ในราคาถูก แต่เป้าหมายที่นำมาชวนเชื่อก็คือ การขายฝันว่าบริษัทฯมีแผนจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากพอ เช่นหากจำนวนสมาชิกถึงแสนเป็นที่มาให้สมาชิกพากันชักชวนเพื่อนฝูงเข้ามาร่วมทุนโดยมีความคิดว่าจะมีส่วนในหุ้นของบริษัท สุดท้ายบริษัทฯก็ปิดตัวลง ติดตามเงินลงทุนไม่ได้ หุ้นบริษัทไม่มีมูลค่าใดๆ ตามที่อ้างอิง รูปแบบที่ 6 ผลิตภัณฑ์อวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค สำหรับในรูปแบบนี้ในบทความระบุไว้ชัดเจนว่าขบวนการแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบนี้มีการระบาดไม่รู้จบในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศ จากการใช้ความทุกข์ของคนเจ็บป่วยมาเป็นเครื่องมือหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ วิธีการก็คือเริ่มจากผลิตภัณฑ์รักษาโรคและแอบอ้างว่า มีสรรพคุณรักษาโรคได้จริง ทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมาทดลองใช้ ในช่วงแรกที่มีคนหลงเชื่อก็จะสร้างแรงจูงใจในการซื้อ และสร้างกลุ่มสมาชิกลงทุนจำหน่ายเพราะโฆษณาว่าขายดีได้รับผลตอบแทนมาก ซึ่งในตัวยาเองอาจมียาอันตรายอยู่ด้วย ทำให้ทั้งเสียทรัพย์สิน และอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ รูปแบบที่ 7 ใช้การทำบุญบังหน้า ได้ทั้งบุญและเงินกลับมา และสำหรับวิธีสุดท้ายนั้นจะเลือกหาเหยื่อที่มีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องการทำบุญอยู่แล้ว ประกอบกับใช้วิธีการอ้างอิงศาสนาและการทำบุญที่มีผลตอบแทนสูงช่วยจูงใจ เช่นกรณีที่เคยมีประกาศเชิญชวนให้คนมาร่วมทำบุญสร้างพระองค์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ 30,000 บาทและจะได้คืน 100,000บาท โดยวิธีการทำให้คนเชื่อถือและมาร่วมทำบุญกันมาก ใช้การติดป้ายโฆษณาในจังหวัดแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และคนมีชื่อเสียงในพื้นที่นั้นว่าได้ร่วมทำบุญบางส่วนมาแล้วเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในท้ายของบทความดังกล่าวนี้ ทางสคบ.ยังได้ฝากข้อคิดเตือนใจว่าก่อนที่ผู้บริโภคคิดจะตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจใด ประการแรกก่อนเข้าลงทุนควรศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของธุรกิจนั้น เบื้องต้นจะต้องพิจารณาว่าธุรกิจนั้นต้องไม่มุ่งเน้นการหาสมาชิกเครือข่ายเป็นหลัก โดยผลตอบแทนต้องมาจากยอดขายที่ทำได้ ไม่ใช่จ่ายผลตอบแทนตามจำนวนสมาชิกที่หาได้ และประการสำคัญที่จะเป็นเกราะป้องกันภัยก็คือ การมีสติอยู่เสมอไม่โลภจนหลงเชื่อคำเชิญชวนที่อวดอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูง ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะหากว่าเป็นธุรกิจที่ดีขนาดนั้น เจ้าของธุรกิจคงไม่ต้องระดมหาสมาชิกเพิ่มมากมาย ทั้งนี้สามารถตรวจสอบว่าบริษัทที่จะร่วมลงทุนได้มีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามกฎหมายหรือไม่ ได้ที่ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านขายตรงและตลาดแบบตรง SHARE