ผลสรุป ก.พาณิชย์ เร่งตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาโครงสร้างราคาและต้นทุนยา-ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน พร้อมระดมข้อมูลค่ารักษาจากผู้บริโภค เพื่อคำนวณราคาอ้างอิงที่เหมาะสมและเป็นธรรม
หัวเรือใหญ่อย่างกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกันหาข้อสรุปหลังจัดการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรฐาน ยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ครั้งที่ 1/2562″ โดยมีตัวแทนจากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาลเข้าร่วม เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แพทยสภา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นต้น
โดยกฎหมายใหม่ที่ออกมาได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนเป็นจำนวนมากเนื่องจาก เป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิบริการทางการแพทย์ จากที่ผ่านมานับว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่ประชาชนคิดว่าแพงเกินควร
สำหรับข้อสรุปจากที่ประชุมดังกล่าวนั้น ได้มีการออกแนวทางมา 3 มาตรการด้วยกัน
- กำหนดให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องแจ้งค่ารักษาพยาบาลต่อผู้เข้ารับบริการแบบเปิดเผยและละเอียด ซึ่งอาจมีการแจ้งโดยผ่านทางเว็บไซต์ แบบมีการแจกแจงค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดในบิล รวมถึงมีราคาค่าบริการแจ้งไว้ที่บอร์ดตรงผนัง
- กำหนดให้ออกมาตรการและประกาศให้ผู้บริโภคทราบสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ต่างๆ ที่ผู้ป่วยสามารถไปซื้อยาข้างนอกได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อยาในโรงพยาบาล โดยให้ทางภาครัฐสนับสนุนบริการตรงนี้
- กำหนดให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาโครงสร้างราคาและต้นทุนยา เวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการของโรงพยาบาล โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน จากนั้นต้องส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ซึ่งจะทำให้เกิดราคาอ้างอิงหรือช่วงราคาที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูที่กฎหมายเก่านั้น จะพบว่าได้มีกำหนดให้โรงพยาบาลแจกแจงรายละเอียดค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาล ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งไม่ค่อยมีประสิทธิภาพและไม่สามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลได้ ส่วนเรื่องการอนุญาตให้นำใบสั่งยาไปซื้อยาร้านขายยาได้ สามารถทำได้นานแล้ว แต่โรงพยาบาลไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น หากพบกรณีที่โรงพยาบาลไม่ให้ไปซื้อยาข้างนอก อาจต้องกำหนดความผิดและบทลงโทษที่ชัดเจน
ส่วนโรงพยาบาลที่มีการตั้งราคาสูงเกินจริง จะต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับ 1 แสน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ