มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชวนประชาชนจับตามติ ครม. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยเฉพาะเรื่องค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน เป็นสินค้าควบคุม
ก่อนหน้านี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้เพิ่มสินค้าควบคุมเข้าไปในบัญชีปีนี้ 1 รายการ คือ ยาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สมาคมประกันภัย มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ เพื่อเข้ามาศึกษาและดูแลเรื่องของค่าบริการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 มกราคม 2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติประกาศใช้
เมื่อวานนี้ (วันที่ 21 มกราคม 2562) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ชวนประชาชนร่วมจับตามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (22 ม.ค. 62) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องการที่ต้องเข้ามาควบคุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้ำ ค่ายาและค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน ต้องเป็นสินค้าควบคุม
เมื่อถามถึงการที่รัฐจะออกกหมายเข้ามาควบคุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน หรือไม่นั้น เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นว่า ค่ายาและค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมราคา โดยยาได้ถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายใต้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มาเป็นเวลาหลายปี แต่ที่ผ่านมามีการกำกับเพียงห้ามขายเกินสติกเกอร์ไพรซ์ (Sticker Price) แต่โรงพยาบาลจะติดราคาเท่าไหร่ก็ได้ มาตรการสติกเกอร์ไม่สามารถกำกับราคายาได้ เพราะจากข้อมูลของคณะแพทย์รามาธิบดีที่มีการทำงานวิจัย พบว่า มีราคายาของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงมากกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง 70-400 เท่า และมติกกร.ที่ผ่านมา ให้ ควบคุมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย เช่น ข้อเข่าเทียม ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาค่ายาและค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน ราคาแพงเกินจริง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ดังที่ได้พูดไปแล้วค่ายาในโรงพยาบาลเอกชน สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 70-400 เท่า ทำให้เกิดการรักษาที่เกินความจำเป็นและราคาแพง เช่น มีดปอกผลไม้บาดฝ่ามือซ้ายขนาด 1 เซ็นติเมตร นำเข้าห้องผ่าตัดหมดค่าใช้จ่ายสูงถึง 60,821 บาท นิ่วในถึงน้ำดี ถ้ามีการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกราคาสูงถึง 600,000 บาท ขณะที่ไปรักษาโรงพยาบาลของรัฐเสียค่าใช้จ่ายเพียง 8,000 บาท หรือผ่าตัดไส้ติ่งโรงพยาบาลเอกชน ราคา 140,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้เป็นปัญหาการฟ้องคดีคนไข้กรณีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เช่น ผ่าตัดหมอนรองกระดูก ตกลงราคา 430,000 บาท แต่เกิดการแพ้ยา ทำให้ต้องจ่ายเพิ่มอีก 230,000 บาท เมื่อไม่มีเงินจ่าย แทนที่จะมีการเจรจาต่อรองกับเลือกฟ้องคดี ทำให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ต้องตกเป็นเครื่องมือของการทำกำไร ทำยอด ไม่ต่างจากนักการตลาดในธุรกิจทั่วไป
นอกจากนี้ การควบคุมค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน มีตัวอย่างโรงพยาบาลเอกชนที่กำไรในระดับ 5-6 % ก็สามารถสร้างตึกใหม่ได้ การกำกับค่ารักษาพยาบาลอาจจะทำให้ลดกำไรลงไปบ้าง หากไปติดตามกำไรสุทธิของโรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งปัจจุบันมีกำไรสุทธิสูงถึง ร้อยละ 33.7% ในไตรมาศที่สามของปี 2561 ซึ่งสูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ และไม่มี โรงพยาบาลเอกชนไหนต้องการให้กำกับค่ารักษาพยาบาล แต่เป็นภารกิจของรัฐที่ต้องทำให้เกิดความเป็ธรรมต่อผู้บริโภค และระบบสุขภาพของประเทศ
“หากโรงพยาบาลเอกชนคิดราคาที่เป็นธรรม ไม่แพงจนเกินไป จำนวนผู้ใช้บริการน่าจะมากขึ้น และอาจจะเท่ากับกำไรที่ผ่านมาก็ได้ แต่มีจำนวนผู้ไปใช้บริการมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงการณ์คนไทยไม่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล โดยออกแถลงการณ์ ณ อาคารเฉลิมพระบารมี สมาคมโรงพยาบาล โดยคณะกรรมการสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้แถลงการณ์ว่า หากมีการกำกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ไม่มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัย และจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยด้อยลง ทั้งที่ปัจจุบันการรักษาพยาบาลของประเทศไทยไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก และนับเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คนไทยทุกคนสามารถไปรับการรักษาพยาบาลตามสิทธิของตนเอง ทั้งสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เรียกว่า UCEP ที่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง ดังนั้น คนไทยในปัจจุบัน “เป็นไปไม่ได้ที่จะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล”