สิทธิที่จะถูกลืมในโลกดิจิทัล อย่าให้ข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ของเรา หรือญาติพี่น้อง ถูกผลิตซ้ำหลอกหลอนทั้งที่เหตุการณ์ทั้งหมดสิ้นสุดลงแล้ว
ภาพเยาวชนที่เผยแพร่ออกไปบนโลกออนไลน์ หรือแม้แต่เนื้อหาข่าวของผู้ต้องสงสัย เมื่อถึงวันหนึ่งที่ความจริงบางอย่างปรากฎ เราจะสามารถทำอะไรได้ไหมกับข้อมูลของเราที่ถูกเผยแพร่ไปแล้ว? เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ถูกผลิตซ้ำหลอกหลอน
สิทธิที่จะถูกลืม (Right to be forgotten) กลับมาเป็นเรื่องใหญ่อีกครั้งของสังคมไทยหลังจากเรื่องเยาวชนอายุ 14 หายตัวออกไปจากบ้าน จนไปเจอว่าหายไปกับพ่อของเพื่อน ทำให้แนวคิดนี้ถูกยกขึ้นมาพูดกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในสหประชาชาติ (UN) มีการพูดถึงเรื่องสิทธินี้ได้หลายปีแล้ว ซึ่งอาจรวมถึงการคาบเกี่ยวกันกับสิทธิความเป็นส่วนตัว (Right to privacy) ในกฎหมาย GDPR ที่ปกป้องความเป็นส่วนบุคคลที่ดีที่สุดตอนนี้ของ EU
สิทธิที่จะถูกลืมคืออะไร?
สิทธิที่จะถูกลืม (Right to be forgotten) ในความคิดเห็นของ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ในงานเสวนา เหยื่อยข่าวออนไลน์ สิทธิที่ถูกลืม โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ The Centre for Humanitarian Dialogue’s (HD) โดย ดร.ศรีประภา มองว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศรับรอง แต่จะไปใกล้เคียงกับ GDPR หรือกฎหมายให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคฉบับใหม่ของ EU แทน ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องของสิทธิที่จะถูกลืมโดยตรง เพราะ GDPR จะเป็นกฎหมายที่เน้นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (Right to privacy) และความเป็นจริงแล้วอาจดูเหมือนทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันแต่ในความเป็นจริงมีความหมายต่างกัน
“สิทธิความเป็นส่วนตัวคือข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยต่อที่สาธารณะ แต่สิทธิที่จะถูกลืมคือข้อมูลที่เป็นสาธารณะไปแล้วแล้วเราจะลบได้อย่างไร นี่คือความต่างกัน” ดร.ศรีประภา กล่าว
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่า สิทธิที่จะถูกลืมตั้งอยู่บนส่วนสำคัญของเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้หมายถึงความสามารถในการรักษาศักดิ์ศรีของบุคคล การจัดการกับข้อมูลส่วนตัวที่ปรากฎบนอินเทอร์เน็ตจึงสามารถทำได้
ภายในวงเสวนา ยังได้มีการยกตัวอย่างกรณีของคดีที่ มารีโอ คอสเตฆา กอนซาเลส เรียกร้องสิทธิที่จะถูกลืมเพื่อให้ Google ลบข้อมูลล้มละลายของเขาเมื่อหลายปีก่อน เพราะตอนนี้เขาได้เคลียร์หนีหมดแล้ว และอยากเริ่มต้นใหม่โดยไม่มีอดีตตามหลอกหลอน
ศาลยุติธรรมยุโรป (Court of Justice of the European Union: CJEU) ได้ตัดสินให้ Google ลบข้อมูลออกจาก Search Engine เนื่องจากเป็นข้อมูลเก่าหลายสิบปีก่อนจึงเป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง (irrelevant) หรือล้าสมัย (outdated) การเก็บรักษาหรือประมวลข้อมูลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามอำนาจของกฎหมายและศาลก็ยังไม่มากพอหรือไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซง Google ได้ เพราะสุดท้ายคนที่ตัดสินใจว่าจะลบหรือไม่อยู่ที่ Google อยู่ดี ซึ่ง Google จึงลบข้อมูลให้แค่ใน EU เท่านั้น แต่ถ้ามีการค้นหาใน google.com หรือ google. (อื่นๆ) นอกเหนือจากประเทศใน EU ก็อาจจะเจอก็ได้
ซึ่งเหตุผลที่เป็นแบบนั้นเพราะว่ามันจะไปละเมิดทับซ้อนกับสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้ให้บริการ Search Engine เรียกกันได้ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของสิทธิที่ซ้อนทับสิทธิกันวุ่นวายไปหมด อย่าลืมว่า Google เป็นบริษัทที่มาจากสหรัฐฯ และในสหรัฐฯ นั้นเขามองเรื่องสิทธิการแสดงความคิดเห็นและสิทธิแสดงข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องใหญ่มาก
สิทธิ VS สิทธิ เมื่อสิทธิซ้อนทับสิทธิ
อย่างที่กล่าวไปว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิทับซ้อนกับสิทธิ สิทธิที่จะถูกลืม Vs. สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การที่สิทธิที่จะถูกลืมทำให้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็เป็นสิทธิมนุษยชน อาจจะต้องมองกันแบบนี้
- สิทธิที่จะถูกลืม เป็นเรื่องของ ปัจเจกบุคคล
- สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นเรื่องของสังคม
ที่ต้องบอกแบบนั้นก็เพราะว่า ป้องการอำนาจของรัฐหรือองค์กรแอบอ้าง ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ เพื่อให้ Google ลบลิงก์หรือข้อมูลที่ไม่อยากให้สังคมรับรู้ ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ จึงไม่ควรทำให้การตีความเป็นไปมากกว่าปัจเจกบุคคล
สิทธิที่จะถูกลืมจึงหมายถึง สิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะร้องขอให้อีกฝ่าย (บุคคลหรือองค์กร) ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไว้ในครอบครองทำการลบข้อมูลส่วนบุคคล เพราะไม่ยินยอมจะให้มีการใช้ข้อมูลนั้นอีกต่อไป และยังครอบคลุมสิทธิอีก 3 สิทธิ ประกอบด้วย สิทธิที่จะขอให้ลบข้อมูลหลังจากช่วงเวลาหนึ่ง สิทธิที่จะได้รับการอภัย (right to be forgiven) หรือได้รับโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ (ไม่ถูกตัดสินด้วยข้อมูลหรือประวัติที่ไม่พึงประสงค์จนทำให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขไม่ได้) และสิทธิที่จะถูกเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น
เมื่อเป็นไปตามทำนองดังกล่าว ก็จะทำให้สิทธิที่จะถูกลืม สามารถคานกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (right to information) เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) และเสรีภาพของสื่อมวลชน (freedom of the press) ได้ ในลักษณะที่ไม่ละเมิดหรือกลายเป็นทำให้สิทธิที่จะถูกลืมเป็นเรื่องเด็ดขาด แต่ทำให้คานกัน