“ฟ้องไปก็เท่านั้น เสียเวลาและเงิน”
“ช่างมันเถอะ คิดซะว่าฟาดเคราะห์”
ภาพจำของผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบมาเนินนานจนกลายเป็นความเคยชินนี้ ช่างสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเท็จจริงที่เครือข่ายเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคและแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เคยทำการสำรวจไว้เมื่อปี 2555 และก็ยังน่าเป็นห่วงมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องเรื่องนี้สะท้อนจุดอ่อนและช่องโหว่สถานะของผู้บริโภคยังคงถูกเอาเปรียบได้อย่างต่อเนื่อง และไร้หนทางการแก้ไข
สำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคข้อมูลจาก สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติเรื่องของ สิทธิผู้บริโภค 5 ประการ ไว้ว่า ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้
- สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
- สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
- สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
โดยข้อมูลชุดดังกล่าวบอกว่า ในจำนวนผู้บริโภคที่ทำการสำรวจ 1,140 ชุด ใน 19 จังหวัดนั้น ทราบดีถึงสิทธิผู้บริโภค 5 ประการที่ตัวเองได้รับ แต่กลับพบว่า พร้อมที่จะถูกหลอกจากผลกระทบของสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากวิธีรับมือต่างๆ เมื่อถูกละเมิดนั้น จะเป็นไปในลักษณะดังต่อไปนี้
- 53.9% ขอคืนสินค้าและเปลี่ยนสินค้าใหม่
- 19.1% เลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย
- 14.2% ขอคืนสินค้าและแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อปกป้องมิให้ผู้อื่นต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับตนเอง
- 7.2% ขอคืนสินค้าและขอให้ร้านค้าชดเชย
- 3.6% เลือกวิธีอื่นๆ
- 2% โทรศัพท์ไปต่อว่าร้านค้า
จากผลสำรวจสามารถบอกได้ว่า แม้ผู้บริโภคจะรู้ว่าสิทธิของตัวเองคืออะไร แต่กลับเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติที่จะบังคับใช้ และยังยอมที่จะใช้สินค้าและบริการที่ไม่ดีต่อไป ประกอบการวิธีการปกป้องเพื่อรักษาสิทธิก็เป็นไปตามลักษณะต่างคนต่างมุ่งเอาตัวรอดกันเองโดยไม่สนใจผู้อื่น เป็นการสะท้อนเรื่องช่องโหว่อันสำคัญในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค เพราะยังมีคนที่ถูกหลอกแต่ก็ไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้อง คิดว่าการร้องเรียนมันไม่ง่าย ล่าช้า กว่าจะจัดการ โดยเฉพาะในฝั่งของการซื้อของออนไลน์