แม้ในประเทศไทยจะมีกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2522 และมีพัฒนาการทางกฎหมายว่าด้วยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย (Safety Products) ขึ้นหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 จนเป็นการคุ้มครองเกี่ยวกับสถานะของคู่ความที่ไม่เท่าเทียมกันตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 หรือที่กันเรียกว่า “กฎหมายความรับผิดในสินค้าที่ไม่ปลอดภัย” หรือเรียกอย่างย่อว่า “กฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย” (Product Liability Law : PL Law) พ.ศ. 2552
แต่ที่ยังพบกันเสมอก็คือการที่ผู้บริโภคโดนละเมิด
เมื่อไม่นานมานี้สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้ทำการนำเสนอผลการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคปีประจำปี 2018 พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนธันวาคม 2018 มีจำนวนการร้องเรียนทั้งสิ้น 192 ราย แบ่งเป็นจากมากไปน้อย
อันดับหนึ่ง ด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 66 ราย
อันดับสอง ด้านสื่อและโทรคมนาคม 34 ราย ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 34 ราย
อันดับสาม ด้านบริการสาธารณะ 25 ราย (โดยมีการแจ้งสิทธิให้ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 189 ราย )
อันดับสี่ ด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน 11 ราย ด้านอื่นๆ 11 ราย
อันดับห้า ด้านสินค้าบริการทั่วไป 5 ราย
อันดับหก ด้านอสังหาริมทรัพย์/ที่อยู่อาศัย 5 ราย
โดยทั้งหมดนี้ทางสมาคมผู้บริโภคขอนแก่น จะดำเนินการช่วยเหลือเพื่อประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาโดยตรง และในปี 2019 ที่มาถึงนี้ ทางสมาคมผู้บริโภคขอนแก่นยังคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังจะมีการผลักดันให้มีการปฏิรูปร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 46 ว่าด้วยเรื่องสภาผู้บริโภคแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านรัฐสวัสดิการ เช่น ระบบบำนาญแห่งชาติ เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าจาก 0-6 ปี เป็นต้น