ปัญหาการ “ให้ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์” จากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นปัญหาเรื้องรังมานาน เนื่องจากพบผลิตภัณฑ์จากการสุ่มตรวจส่วนใหญ่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีการปลอมปนสารต้องห้ามอยู่ในผลิตภัณฑ์ หรือบางครั้งมีการนำเลของค์การอาหารและยา อย. ของสินค้าอื่นมาติดบนฉลาก ที่เราเรียกกันว่า ‘การสวมเลข อย.’ ทำให้วันนี้มียาและเครื่องสำอางจำนวนมากที่ขอจดแจ้งตรารับรองจาก อย. โดยที่สถานที่ผลิตและส่วนผสมไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ ส่งผลให้ประชาชนเกิดอันตรายจากการบริโภค
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด หัวเรือใหญ่แคมเปญ “แยกหน่วยงานให้ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ออกจาก อย.” ผ่านเว็บไซต์ change.org ตัวแทนเภสัชกรชุมชนได้ออกมาสะท้อนปัญหาผลิตภัณฑ์ขอเลข อย.ง่ายว่า ปัญหาจากการจดเลข อย.ที่ง่าย เพื่อตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ทำให้ประชาชนได้รับความเสี่ยงต่ออันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย เช่น การลักลอบผสมไซบูทรามีนในอาหารเสริมลดน้ำหนักจนทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือการแอบผสมสเตียรอยด์ลงในอาหารเสริม จากนั้นมีการอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาอาการปวดได้ ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้และได้รับอันตรายจากการรับประทาน
ข้อมูลเพิ่มเติมจากสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พบว่า ตุลาคม 2560 – กรกฎาคม 2561 จากการสำรวจสถานที่ผลิตเครื่องสำอางทั้งหมด 1,616 แห่ง ใน 14 จังหวัดในภาคใต้ มี 951 แห่ง หรือ คิดเป็น 76.94 % มีเครื่องสำอางที่มีเลขจดแจ้ง ไม่ตรงกับสถานที่ผลิต และยังมีเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้ปลอมปนอยู่ด้วย (ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ ปรอทแอมโมเนีย โคลเบตาซอล)
นอกจากนี้ ภญ.สุภาวดี ยังเปิดเผยอีกว่า พบการปนปลอมไซบูทรามีน ที่มีการประกาศยกเลิกแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดนส่วนใหญ่อวดอ้างในสรรพคุณอาหารเสริมลดน้ำหนัก รวมทั้งยังพบเจอกับปัญหาสเตียรอยด์ ทั้ง dexamethasone, prednisolone, betamethasone tab กระจายยาไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้สเตียรอยด์เหล่านี้ถูกผสมลงในยาชุด รวมถึงปลอมปนในยาแผนโบราณ
สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เมื่อดูรายละเอียดในแคมเปญรณรงค์จะพบว่า มีการเสนอให้จัดตั้งองค์กรอิสระแยกออกมาทำหน้าที่แทน อย. และให้ อย. ทำหน้าที่ในเรื่องการเฝ้าระวัง กำกับดูแล รับเรื่องร้องเรียน (Post-market Control) ส่วนองค์กรอิสระจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและกำหนดให้มีบุคคลากรที่เพียงพอเพื่อทำหน้าที่พิจารณาว่าสมควรจะรับรองผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา อย. มีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ (มีเจ้าหน้าที่ราว 700 คน ทำหน้าที่ทั้งกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ได้แค่เฝ้าระวังเท่านั้น) ทำให้ไล่ตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างทุกวันนี้ไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูวิธีการจัดการของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะพบว่า องค์การอาหารและยา (FDA) มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพราว 5,000 คน และดำเนินคดีกับผู้ผลิตอย่างจริงจัง โดนเฉพาะการเข้าตรวจสอบหลังวางจำหน่ายแล้ว ขณะที่ของไทยจะให้ความสำคัญแค่ก่อนวางจำหน่ายหรือในขั้นตอนการขอเท่านั้น แต่การสุ่มตรวจยังไม่ได้ทำอย่างเข้มงวด
ตรวจเลขผลิตภัณฑ์ได้ที่ >> คลิก
ปัจจุบัน อย. มีบริการเช็กเลข อย. ออนไลน์ได้แล้ว โดยท่านสามารถค้นหาเลขที่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ซึ่งปกติเลข อย. ของเครื่องสำอาง อาหาร และยา นั้นจะมีหลักไม่เท่ากัน
- เครื่องสำอางมี 10 หลัก
- อาหารมี 13 หลัก
- ยามี 13 หลัก