เราไม่รู้จะทำยังไงให้คนในกรุงอินเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว คนที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้มากที่สุดก็คือ ‘เอกชน’ ขณะที่ข้ออ้างเรื่องให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ประโยชน์จากการจ้างงาน ความมั่นคงทางไฟฟ้า และรายได้ทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถเยียวยาผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เลย เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ‘ชาวบ้าน’
ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนเมืองด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วที่จีนเมื่อ นักวิจัยประจำสถาบันนโยบายพลังงาน แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) เปิดเผยว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศจีนมีอายุสั้นกว่าชาวภาคใต้เฉลี่ย 3.1 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากมลภาวะทางอากาศ และหากมีการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินขึ้นอีกที่นครสวรรค์และสระบุรี ซึ่งเรียกได้ว่า ตอนนี้ล้อมรอบกรุงเทพฯ ทีเดียว อีกหน่อยประชาชนอาจไม่ได้แค่เช็กว่าวันนี้ฝนตกไหมเหมือนประเทศอื่น แต่เราต้องเช็กมลพิษกันแทนว่าวันนี้ออกจากบ้านได้ไหม?
ทำไมวันนี้เราจึงเห็นม็อบชาวบ้านต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน?
คนเมืองอาจไม่เข้าใจเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่จะเจอก็แค่การเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างถนนหรือรถไฟฟ้า ผลกระทบด้านสุขภาพไม่ค่อยชัด แต่การที่มีโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินอยู่หน้าบ้านนั้นต่างกันมาก
“ใบไม้และพืชผักเป็นรูพรุนเหมือนถูกเผาจนเกรียม…เกิดฝนฝุ่นตกลงมาเต็มไปหมด…ต้นมะขามที่อยู่ข้างบ้านใบร่วงหมด…ดอกไม้และไม้ผลต้นเล็กเสียหาย ต้นข้าวกลายเป็นสีเหลือง” ข้อความที่บรรยายถึง ‘ฝนกรด’ จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในวารสารหมอชาวบ้านที่เขียนโดย ทานตะวัน ปี พ.ศ. 2535 เรื่องพิษแม่เมาะ
‘มัจจุราชพลังงาน’ ได้จาก ‘การขุดเจาะจนไปถึงการเผาไหม้’ สร้างมลพิษทุกขั้นตอนการผลิต ทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น และปรอท สารพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อเกิดวนเวียนซ้ำซ้อนในห่วงโซ่อาหารของสิ่งแวดล้อม ตามหลักการแล้ว มนุษย์ซึ่งอยู่จุดสูงที่สุดของห่วงโซ่อาหารจะได้สารพิษสะสมเต็มๆ ผ่านอากาศ พืชผลการเกษตร แหล่งน้ำ และปศุสัตว์ (ต่อให้กินมังสวิรัตหรือคลีนก็ไม่รอด)
ถ่านหินจึงเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษสูงที่สุด และ 1 ใน 3 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในโลก มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน ส่งผลต่อการสร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก
ทำไมต้องเป็นถ่านหิน?
ถ่านหินมีปริมาณสำรองสูงมาก สามารถใช้นานถึง 220 ปี ต้นทุนการผลิตต่ำอยู่ที่ 2 – 3 บาทต่อหน่วย แม้จะมีเทคโนโลยีปัจจุบันที่สามารถกำจัดมลพิษจากถ่านหินได้อย่างเช่น Ox NOx รวมทั้งฝุ่นละอองต่างๆ ได้มากกว่า 95% แต่ก็ต้องยอมรับในข้อหนึ่งว่า ยังไม่มีไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ในโลกดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ และยังจำพวกสารเคมีโลหะหนักในผงฝุ่นที่ออกมาจากโรงงานนับไม่ถ้วน
ส่วนพลังงานทดแทนอย่างลม แสงอาทิตย์ หรือนิวเคลียร์ มีต้นทุนที่สูงมาก และยังมีอุปสรรคด้านธรรมชาติจนทำให้การผลิตพลังงานไม่เสถียรพอ หากต้นทุนสูงขึ้นราคาค่าไฟฟ้าประชาชนก็ไม่ยอม หรือการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าจะมีแรงต้านเขื่อนอีก
ชาวบ้าน ลุกฮือต้านโรงงานไฟฟ้า
ปัจจุบันไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว 10 แห่ง ประกอบด้วย ระยอง ปราจีนบุรี อยุธยา และลำปาง โดยมีแผนจะสร้างเพิ่มอีกที่ ปัตตานี นครสวรรค์ สระบุรี และกระบี่ (กระบี่มีคำสั่งยกเลิกแล้ว จากการเคลื่อนไหวอย่างหนักของ NGO ประชาชน และนักวิชาการ) ส่วนสงขลาชาวบ้านมีความพยายามจะเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโครงการ ส่วนที่นครสวรรค์และสระบุรีตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2561 กลุ่มชาวบ้านพยายามรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีมากขึ้น เนื่องจากพลังงานไฟฟ้า 70% ในประเทศนำเข้าจากเมียนมาและลาว ในทางวิศวกรรมนับได้ว่าประเทศไทยขาดความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากสัดส่วนมีสัดส่วนการใช้พลังงานด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ทางแก้คือการสร้างสัดส่วนในการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย ไม่เทไปด้านใดมากเกินไป เช่น solar cell, กังหัน, Nuclear หรือแหล่งเชื้อเพลิงอื่นๆ พยายามใช้ให้หลากหลาย
ทั่วโลกสั่งระงับโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินและทะยอยปิด
เรามาดูกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาเป็นอย่างไรกันบ้าง?
ความจริงที่ว่าประเทศกลุ่มในยุโรปเริ่มทะยอนเดินหน้าสั่งปิดโรงงานถ่านหินอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นอังกฤษและเครื่องสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โปรตุเกส ออสเตรีย และฟินแลนด์ เนื่องจากต้นทุนการใช้พลังงานสะอาดปรับตัวลดลง อีกทั้งยังเตรียมมาตรการขึ้นราคาถ่านหินให้แพงขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อเป็นการกดดันกลุ่มธุรกิจโรงงานไฟฟ้าให้ใช้พลังงานสะอาด ขณะที่ประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกทำลายชั้นบรรยากาศของโลกเป็นอันดับต้นๆ อย่างจีนเองก็ทะยอยระงับโครงการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นใหม่ในการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน และสาเหตุสำคัญก็คือ ทั่วโลกนั้นรู้มาหลายสิบปีแล้วว่า ถ่านหิน ไม่ใช่พลังงานสะอาด
ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ พบว่า มีเด็กเป็นโรคพิการทางสมองปีละ 3 แสนคนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และมีมลพิษมากกว่า 80 ชนิด ทำให้รัฐบาลต้องออกมาสั่งห้ามกินสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 39 รัฐ เนื่องจาก พบสารปรอทจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เหมือนที่เราบอกไปด้านต้นของบทความว่า ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ในโลกดักจับปรอทและแคดเมียมได้ จนทำให้บารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนั้นประกาศสั่งปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 94 แห่งในปี 2558 และ 41 แห่งในปี 2559 ถัดมา อีกทั้งยังบอกอีกว่าจะต้องปิดทั้งหมดในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น อีกฝากหนึ่งของทวีปยุโรป งานวิจัยจากเยอรมนีเรื่องผู้สเสียชีวิตและโรคที่เกิดจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน พบว่า มีประชาชนปีละ 10,000 คน อายุสั้นลง 11 ปี ทำให้ อังกฤษออกประกาศว่าจะปิดโรงงานทั้งหมดในปี 2030 เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป และประเทศในทวีปอเมริกาอย่างแคนาดา ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศจีนที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมากที่สุดในโลก เมื่อมีข้อมูลว่าประชาชนได้รับผลกระทบก็สั่งปิดโรงงานถึง 100 แห่ง และจะทำการปิดอีกในอนาคต
เห็นได้ว่าประเทศต่างๆ เริ่มตระหนักเรื่องมลพิษจากโรงงานถ่านหินเป็นอย่างมากแม้กระทรวงพลังงานจะออกมาให้ข้อมูลว่า ถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด
แต่จากหลายๆ งานวิจัยต่างประเทศได้ทำการสำรวจนั้นก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลกระทบของโรงงานไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่ตัวเลือกทางพลังงานที่คุ้มมากนัก ถ้าต้องแลกกับสุขภาพของประชาชนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่สามารถจัดการกับถ่านหินได้นอกจากจะปิด
ผลกระทบของโรงงานไฟฟ้าถ่านหินจึงเกิดขึ้นทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย สุขภาพ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ