ธันวาคม 17, 2017 856 Views ขันน็อต “สคบ.” เข้มค้าออนไลน์ รองนายกฯ-รมต.ประสานเสียงเข้มเน้นทำงาน “เชิงรุก” by Admin ตอนที่แล้ว Bee Voice ได้นำเสนอเรื่องราวของธูรกิจขายตรงก... Read More แหล่มเลย ! คลอดกม.คุ้มครองสิทธิผู้ซื้อรถ -มือถือ สินค้าชำรุดภายใน 6 เดือนได้เปลี่ยนใหม่ ทำประกันภัย “โบรกเกอร์เถื่อน” ระวังร้องไห้หนักมาก !!!!! ตอนที่แล้ว Bee Voice ได้นำเสนอเรื่องราวของธูรกิจขายตรงกับการเบนเข็มทำธุรกิจออนไลน์หรือตลาดแบบตรง จากคำให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อน.ส.พ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ธ.ค. โดย นายสมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย ที่ระบุว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ภาพรวมตลาดขายตรงยอดขายจะหายไปเกือบ 20% เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการขายตรงหลายรายที่หันไปขายสินค้าแบบตรงหรือขายผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วยังไม่ได้ยื่นจดทะเบียนการทำธุรกิจแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำให้เข้าข่ายผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวจนต้องหยุดขายในช่องทางดังกล่าวชั่วคราว เพื่อรอดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือน กว่าจะออกใบอนุญาตได้ พร้อมยังระบุว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้ามาจดทะเบียนธุรกิจแบบตรงทั้งหมด 492 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทขายตรงเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ยื่นจดทะเบียนการขายแบบตรงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น แอมเวย์ ,กิฟฟารีน ,จอยแอนด์คอย ,คังเซนเคนโก ฯลฯ ขณะที่ยังมีอีกกว่า 90 % จากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงทั้งหมด 1,196 บริษัทที่ยังไม่ยื่นจดทะเบียน จึงเป็นปัจจัยลบที่คาดว่าภาพรวมตลาดขายตรงปี 60 น่าติดลบ 3-4% จากมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท นั่นคือรอยต่อที่นำมาสู่ประเด็นในตอนที่สองจากเหตุที่ธุรกิจขายตรงเบนเข็มทำธุรกิจแบบตรงหรือค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ประจวบกับผลพวงจากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 5 ที่ว่ากันว่ามีนัยสำคัญต่อทิศทางของรัฐบาลในอนาคต โดยเฉพาะกับเรื่องของเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน ภายใต้ขุนพลคนสำคัญที่ขับเคลื่อนอย่าง รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในขณะที่การทำงานด้านประชาสังคม หน่วยงานสำคัญอย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีถูกปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน จากเดิมที่เคยมอบหมายหมายให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ และ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯกำกับดูแล เปลี่ยนเป็น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ และ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เข้ามากำกับดูแลแทน การเข้ามาทำงานในบทบาทใหม่ของ พล.อ.ฉัตรชัย ในฐานะรองนายกฯที่กำกับดูแลสคบ. จึงถือเป็นมิติทางสังคมที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อย ๆในฐานะที่สคบ.ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรียังได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนรักของนายกฯอีก จะมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่าบทบาทของสคบ.ต่อจากนี้ไปจะทำงานใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีมากขึ้น กรอบการทำงานโดยเฉพาะเรื่องของการร้องเรียนในเรื่องต่าง ๆจะได้รับการเยียวยาแก้ไขมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อภายหลังเข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ว่าทั้งรองนายกฯและรมต.กังวลเรื่องผู้บริโภคอาจถูกเอาเปรียบจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยกำชับให้สคบ.หาทางควบคุมแบบเชิงรุกเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง ให้ได้รับสินค้าตามที่มีการโฆษณาและต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ได้รับความเสียหาย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นอกจากนี้ยังได้กล่าวว่าในเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์แม้ว่าที่ผ่านมาสคบ.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคมากนัก เพราะผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ได้เยียวยาให้กับผู้บริโภคที่มีปัญหาเรื่องการซื้อสินค้า มีเพียงส่วนน้อยที่ร้องเรียน ซึ่งสคบ.จะดำเนินคดีแทนผู้บริโภคด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน หากการเจรจาไกล่เกลี่ยไม่ได้ผล โดยส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการผู้บริโภคเป็นผู้พิจารณาให้ สคบ. ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายคืน พล.ต.ต.ประสิทธิ์ ยังได้กล่าวว่า สคบ.ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องตรวจสอบให้ดีเวลาซื้อสินค้าหรือบริการใด ๆ โดยใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปโฆษณาสินค้าเก็บเป็นหลักฐาน พร้อมหลักฐานการโอนเงินโดยหลักการซื้อขายทางออนไลน์ ผู้ซื้อสามารถคืนสินค้าภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นไปตามหลักประกันความพึงพอใจ ไม่ว่าสินค้าจะชำรุดหรือเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าผู้รับสินค้าเกิดความไม่พอใจก็สามารถคืนได้ภายใน 7 วัน และผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อภายใน 15 วัน “รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯได้มอบนโยบายให้ สคบ.ดูแลประชาชนและผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนโดยต้องให้เข้าไปช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว พร้อมกับแจ้งให้ผู้ที่มาร้องเรียนได้ทราบความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ” ขณะเดียวกันยังได้กำชับสคบ.ให้เพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วยการประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งก่อนหน้านี้สคบ.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับดีเอสไอเพื่อบูรณาการข้อมูลการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค. ล่าสุด (13 ธ.ค.) รมต.สุวพันธุ์ได้ให้สัมภาษณ์กำชับผ่านสื่ออีกครั้ง กรณีการแก้ปัญหาการขายตรงและเรื่องแชร์ลูกโซ่ว่า เรื่องนี้เขามีแนวทางดำเนินการอยู่แล้วและเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปลัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) รองปลัดสปน.และเลขาฯสคบ.ได้มาสรุปรายละเอียดของงานด้านต่าง ๆให้ตนและพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯรับทราบว่างานที่กำลังทำอยู่เป็นอย่างไรบ้าง โดยพล.อ.ฉัตรชัยและตนได้มอบนโยบายไปว่า สคบ.ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคมีกฎหมายหลายตัวซึ่งบางเรื่องอาจเกี่ยวกับสคบ.บางเรื่องอาจเกี่ยวกับส่วนราชการอื่น แต่ขอให้สคบ.รับเรื่องราวที่มีการร้องเรียนทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องไหนที่รับมาแล้วเกี่ยวข้องกับสคบ.ก็ดำเนินการแก้ไขต่อไปและแจ้งความคืบหน้าให้ผู้ร้องรับทราบด้วย แต่หากเรื่องไหนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นก็ให้ประสานไปที่หน่วยงานนั้น พร้อมกันนี้ยังมอบนโยบายให้สคบ.ทำงานเชิงรุกมากมากขึ้นไม่ใช่มีแต่งานเชิงรับ โดยจะต้องสร้างการรับรู้ รู้เท่าทันขยายเครือข่ายไปยังภาคประชาสังคมด้วย และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นจากผลพวงการปรับคณะรัฐมนตรี ที่เชื่อเหลือเกินว่าหน่วยงานสำคัญเช่นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคงจะได้เห็นเนื้อเห็นหนังในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจค้าออนไลน์ทั้งจากสินค้าทั่วๆไป ตลอดจนกลุ่มธุรกิจขายตรงที่เบนเข็มหันมาทำออนไลน์กันมากขึ้น ลบคำสบประมาทที่ว่าเป็นได้แค่ “เสือกระดาษ” ที่ผู้กระทำความผิดไม่เคยแยแสต่อหน่วยงาน SHARE