พ.ร.บ.ขายของออนไลน์ ตั้งเป้าเก็บภาษีประชาชนรายรับนอกกฎหมายและธุรกิจสีเทา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. หรือ พ.ร.บ. ขายของออนไลน์โดยประเด็นสำคัญที่มีการเพิ่มเติมคือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์(การรับเงินโอนเข้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกทาง) หากบุคคลหรือนิติบุคคลมีความเคลื่อนไหวทางบัญชีและฝากเงินเกิน3,000ครั้งต่อปี หรือมีเฉลี่ยรับเงินโอนรวมกันปีละ 400 ครั้ง ยอดรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป ให้แจ้งกรมสรรพากรเนื่องจากเข้าข่ายเป็น ‘ธุรกิจลักษณะพิเศษ’
1.) บุคคลหรือนิติบุคคลมีความเคลื่อนไหวทางบัญชีและฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี
2.) มีเฉลี่ยรับเงินโอนรวมกันปีละ 400 ครั้ง ยอดรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป
3.) นับยอดธุรกรรมตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมดังกล่าวจากการรายของสำนักข่าวเดลินิวส์ พบว่า มีสนช.หลายคนที่ลุกขึ้นท้วง พ.ร.บ. ดังกล่าว เช่น นายวรพล โสคติยานุรักษ์ และนายตวง อันทะไชย เนื่องจากขาดหลักเกณฑ์สำคัญ การระบุดังกล่าวจะกระทบกับประชาชนที่ไม่ใช่ผู้ค้าออนไลน์ แต่แค่มีธุรกรรมออนไลน์เท่านั้น
จากนั้นนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลังในฐานะ ประธาน กมธ. ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ. ดังกล่าว ไม่ได้จงใจเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้นแต่เพื่อเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กลุ่มที่ใช้แรงงานอายุ 30– 39 ปี จำนวนราว 10.9 ล้านคนแบ่งเป็นมีรายได้ประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนคน ส่วนไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ได้เข้าระบบการเสียภาษี เช่นเดียวกับนิติบุคคลที่เสียภาษี 6.3 แสนราย แต่ยื่นเสียภาษีแค่ 4.2 แสนรายได้เข้าระบบการเสียภาษีเช่นกัน ช่วยให้ไม่เพิ่มภาระทางการคลังและยังป้องกันธุรกิจสีเทาอย่างเช่นการปล่อยเงินกู้นอกระบบหรือห่วยใต้ดิน เป็นต้น
กฎหมายฉบับนี้จึงไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อผู้ค้าออนไลน์เนื่องจากการเสียภาษีออนไลน์ของร้านค้าจำเป็นต้องยื่นอยู่แล้ว หากบุคคลธรรมดามีรายรับตั้งแต่ 150,001 บาทต่อปีขึ้นไปแต่กฎหมายฉบับนี้ทำขึ้นมาเพื่อต้องการให้ประชาชนที่อยู่นอกระบบการเสียภาษีเข้ามาเสียภาษีมากขึ้น
