จะบอกว่าเป็นธุรกิจ “ขายฝัน”ใครบางคนอาจจะบอกว่ามองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะในความเป็นจริงคนที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นอยู่มากมาย ขณะเดียวกันคนที่ล้มเหลวจากการทำธุรกิจดังกล่าวจนต้องสูญเงินไปเป็นจำนวนมากก็มีปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว สำหรับ “ธุรกิจขายตรง”
ด้วยกลยุทธ์ในการสร้างแรงจูงใจหลากหลายสารพัดวิธีโดยเฉพาะเรื่องของการจ่ายผลตอบแทน ทำให้หลายคนที่ถลำตัวเข้าสู่วงจรธุรกิจดังกล่าวเกิดตาลุกวาว อยากพลิกชีวิตเป็นเศรษฐีเยี่ยงแม่ทีมหรือผู้นำองค์กร สุดท้ายก็ต้องสูญเงินไปเป็นจำนวนมากจากการถูกฉ้อโกง ซึ่งมีปรากฏข่าวให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้น “ธุรกิจขายตรง”ก็ยังคงเบ่งบานให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด Bee Voice มีข้อมูลอ้างอิงจาก “ฐานเศรษฐกิจ”ที่ออกมายืนยันถึงอาชีพดังกล่าวนี้ไว้น่าสนใจทีเดียว จากการให้สัมภาษณ์ของ นายณัชภัทร ขาวแก้ว นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ออกมาระบุว่าสคบ.ได้รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในปี 2560 พบว่ามีการรับจดทะเบียนใหม่รวม 169 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจขายตรงจำนวน 81 ราย ขณะที่ธุรกิจตลาดแบบตรงมีการรับจดทะเบียนใหม่รวม 88 ราย
ขณะที่ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการทั้ง 2 ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่จำนวน 1,875 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงจำนวน 1,283 ราย และธุรกิจตลาดแบบตรง จำนวน 592 ราย ซึ่งสคบ.ได้รับจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจขายตรงตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันจำนวน 1,504 ราย ส่วนในธุรกิจตลาดแบบตรงที่ทางสคบ. ได้รับจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน มีจำนวนรวม 594 ราย
รายงานข่าวยังได้ระบุว่า แม้จะมีผู้ประกอบการที่สนใจประกอบธุรกิจได้ขอยื่นจดทะเบียนใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง แต่ก็มีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ขอยกเลิกการประกอบธุรกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งในธุรกิจขายตรงมีผู้ประกอบการขอยกเลิกการประกอบธุรกิจจำนวน 53 ราย ส่วนธุรกิจตลาดแบบตรงมีผู้ขอยกเลิกประกอบธุรกิจจำนวน 2 ราย
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบธุรกิจขายตรงที่ถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจด้วย ซึ่งมีจำนวน 168 รายด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิดำเนินธุรกิจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ การไม่ดำเนินธุรกิจตามแผนการตลาดที่ได้จดทะเบียนไว้ เป็นต้น แต่ประเด็นสำคัญที่ถูกยกเลิกและเพิกถอนมีด้วยกัน 4 ประเด็น ได้แก่ธุรกิจล้มละลาย ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ชำระบัญชีเพราะบริษัทปิดกิจการและสถานะร้าง นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ประกอบการที่เข้ามาขอยกเลิกการประกอบธุรกิจเองด้วยจำนวน 50ราย ซึ่งสาเหตุหลักจะมาจากไม่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ ไม่เข้าใจในระบบธุรกิจขายตรง เปลี่ยนใจไม่ดำเนินธุรกิจขายตรง แต่ไปดำเนินธุรกิจประเภทอื่นแทน เช่น เปลี่ยนไปขายปลีกทั่วไป เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีคำสัมภาษณ์ของ นายสมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย ที่ระบุว่าช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ภาพรวมตลาดขายตรงยอดขายหายไปเกือบ 20% เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการขายตรงหลายรายที่หันไปขายสินค้าแบบตรงหรือขายผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วยังไม่ได้ยื่นจดทะเบียนการทำธุรกิจแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำให้เข้าข่ายผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวจนต้องหยุดขายในช่องทางดังกล่าวชั่วคราว เพื่อรอดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือนกว่าจะออกใบอนุญาตได้
พร้อมกันนี้ยังระบุว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้ามาจดทะเบียนธุรกิจแบบตรงทั้งหมด 492 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทขายตรงเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ยื่นจดทะเบียนการขายแบบตรงอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เช่น แอมเวย์ กิฟฟารีน จอยแอนด์คอย คังเซนเคนโก และยังมีอีกกว่า 90 % จากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงทั้งหมด 1,196 บริษัทที่ยังไม่ยื่นจดทะเบียน จึงเป็นปัจจัยลบที่คาดว่าภาพรวมตลาดขายตรงปี 60 น่าติดลบ 3 – 4 % จากมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังปีที่แล้ว (2559) พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจโดย นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ในฐานะประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทยเคยระบุถึงสถานการณ์การหลอกลวงผู้บริโภคผ่านธุรกิจขายตรงว่า ยังมีให้เห็นทุกวัน ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายบางรายที่ต้องการได้รับเงินคืนก็มักจะไปหลอกลวงผู้บริโภคต่อทำให้มีจำนวนผู้เสียหายเพิ่มทวีคูณ โดยที่ผ่านมามีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกับทางสมาพันธ์ฯกว่า 20 ราย
ขณะที่รูปแบบบริษัทขายตรงที่มีพฤติการณ์หลอกลวงมีด้วยกันหลายประการ
1.ใช้รูปแบบธุรกิจขายตรงแต่ไม่ได้ขออนุญาตดำเนินธุรกิจกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เช่นธุรกิจเติมเงินมือถือ ธุรกิจทัวร์ท่องเที่ยว สมาคมฌาปณกิจสงเคราะห์ เป็นต้น
2. การซื้อใบอนุญาตจากบริษัทที่ได้จดทะเบียนกับสคบ.
3. มีใบอนุญาตจากสคบ.แต่เปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่ยื่นขออนุญาตไว้โดยเฉพาะการจ่ายผลประโยชน์ที่มากเกินความเป็นจริงที่เรียกว่าOver Pay เพื่อให้คนสนใจทำธุรกิจซึ่งในที่สุดบริษัทจ่ายผลตอบแทนไม่ได้ก็จะทำการปิดกิจการหนี
4. เปลี่ยนสินค้าที่เคยขออนุญาตกับทางสคบ.ไว้ เพื่อใช้หลอกลวงผู้บริโภค
เช่นเดียวกับ ดร.สมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) เคยกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่าการจะทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ทางสคบ.ไม่รับจดทะเบียนให้อยู่แล้ว วิธีการที่ทำได้คือการซื้อใบอนุญาตจากบริษัทที่ได้รับและไม่ดำเนินธุรกิจแล้ว และทำการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนแผนหรือเปลี่ยนสินค้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือว่าเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าใบอนุญาตดังกล่าวซื้อขายในราคาเท่าไร
“แนวทางการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่นั้นจะต้องมีการเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น ทั้งบริษัทที่ประกอบธุรกิจ รวมถึงนักธุรกิจที่ทำธุรกิจขายตรงด้วย”
นอกจากนี้ยังให้ความเห็นว่า บริษัทขายตรงควรได้รับการตรวจสอบคุณภาพการดำเนินธุรกิจ ในเรื่องของการประกอบธุรกิจว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ สินค้าที่จำหน่ายขึ้นทะเบียนหรือไม่ แผนธุรกิจตรงตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนหรือไม่ และที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือคณะกรรมการหรือไม่ นอกเหนือจากการมีใบอนุญาตอยู่แล้ว เพื่อให้บริษัทที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้เป็นที่ยอมรับ และได้รับการรับรองว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินการถูกต้อง
เรื่องราวของธุรกิจขายตรงยังคงเป็นเรื่องที่ฝากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้คิดอ่านถึงมาตรการในการเตรียมการป้องกันปัญหาจากภัยแฝงโดยเฉพาะกลุ่มมิจฉาชีพที่อาศัยช่องทางในธุรกิจดังกล่าว เพราะตราบใดที่คนยังโลภอยากรวย การโฆษณาโอ้อวดคำโตย่อมเกิดปัญหาให้เห็นอยู่เสมอ