“คุณรู้ไหมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่มีหน่วยงานทำเรื่องข้อมูลโดยตรง ประเทศแรกคือ อังกฤษ และปีที่แล้วสิงคโปร์ก็เพิ่งจะเปิดตัวไป” ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA เริ่มเกริ่นให้ฟัง
“ก่อนหน้าที่มีเป็นข่าวกันว่า ราชการจะยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชนนั่นมันก็แค่จุดเริ่มต้น” ดร. ศักดิ์ กล่าวต่อ
วันนี้เรามีนัดทำความเข้าใจเรื่อง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ที่เพิ่งจะผ่านมติเห็นชอบแบบเอกฉันท์จากคณะรัฐมนตรี ระหว่างสื่อมวลชนและ DGA สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA (หน่วยงานเดิมคือ EGA อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: DE ปัจจุบันขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี)
สาบานได้เลยว่าตอนที่ได้ยินคำว่า ‘พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล’ ครั้งแรก ทำให้พาลนึกถึงเรื่องของการบริหารประเทศโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนนึกคิดไปว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะไม่มีรัฐบาลที่บริหารโดยมนุษย์แล้วอย่างงั้นเหรอ?
คำตอบคือไม่ใช่ค่ะ
ร่างพระราชบัญัติดังกล่าวจะมีการเน้น Transformation ให้ราชการและประเทศไทยก้าวเข้าไปเป็นประเทศไทย 4.0 อย่างแท้จริง << เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ DGA บอกมา
“ความยากอันสำคัญคือ Mind set ของคนทำงานราชการ” ผู้อำนวยการ DGA ยอมรับอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้น การปรับตัวครั้งสำคัญนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนธรรมดา แต่คือการ Transformation อันเป็นเหมือนการปฏิวัติรูปแบบการทำงานเดิมๆ ของภาครัฐ นอกจากจะทำให้กระดาษหายไปแล้วมันมีส่วนสำคัญบางอย่างมากกว่านั้น เพราะในที่สุดแล้ว โลกจะกลายเป็นเรื่องของ Big Data และนำไปสู่ AI หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ช้าหรือเร็วก็ตาม ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งรัฐบาลจะมีนโยบายเกี่ยวกับ AI ออกมาอีกแน่นอน แต่ข้อมูลมันต้องมากพอ และต้องเป็นความร่วมมือระหว่างทั้งภาครัฐและเอกชน
“ระยะเวลาที่ให้ข้าราชการปรับตัวตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. … นี้คือ 5 ปี และระบุคาดโทษหากดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าจะต้องทำหนังสือพร้อมร่างแผนรายงานต่อคณะรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสั่งปรับโครงสร้างหน่วยงานนั้นทั้งหมดได้ทันที” นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมขึ้นมา สะท้อนเรื่องความจริงจังในการจัดการข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลในอนาคต โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาจัดการ จากฐานข้อมูล Big Data ที่รวบรวมโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ส่วน DGA จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการ Sharing ข้อมูลระหว่างภาครัฐ และ Open Government ที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลกจากการบูรณาการเปิดข้อมูลบางส่วนที่ทำได้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แบบไม่ปิดกั้นประชาชนได้นำไปใช้ต่ออย่างง่ายและสะดวก ถือเป็นวิธีการใหม่ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนของโลกแห่ง “รัฐบาลดิจิทัล”
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …
รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ยังสรุปสาระสำคัญที่ปั้นให้เกิดขึ้นแน่ๆ เลยคือ การยืนยันตัวตนที่ภาครัฐกำลังทำให้เกิด digital ID (จากเดิมใช้สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน) โดยจะให้เอกชนดำเนินการแบบนี้ด้วย รวมถึงเกิดการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ ผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ และศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐพร้อมให้ยกเลิกการเรียกเอกสารผู้ค้ากับภาครัฐ ภายใน 2 ปี (เป็นการลดเอกสารและไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำๆ) และการชำระเงินที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ระบบ Promt-pay และ QR Code
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. … ยังมี 6 หลักการใหญ่ ประกอบด้วย
หนึ่ง การจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) โดยข้อมูลนั้นต้องสมบูรณ์ ถูกต้อง เชื่อถือได้ และทันสมัย
สอง การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ (Integration) โดยมีการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ ซึ่งมีแผนจะจัดตั้งขึ้นภายใน 2 ปี เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และมีระบบบริการดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังบริการดิจิทัลระหว่างหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน
สาม การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data) โดยให้เปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data Center) โดยเพื่อให้ประชาชนสามารถสืบค้นและนำมาใช้ประโยชน์ได้
สี่ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำหรือปรับปรุงแผนปฏิบัติการหรือแผนงานที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้หน่วยงานนั้นทำแผนเสนอคณะกรรมการเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ห้า กำหนดให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานต้องสามารถเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้ไม่มีการกักข้อมูล (Integration) โดยให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติเพื่อรองรับและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้ข้อมูลโดยสุจริต และต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และมาตรการป้องกันมิให้ข้อมูลถูกเปิดเผย ลอกเลียน แก้ไข ปรับเปลี่ยน ทำให้เสียหาย หรือถูกทำลายโดยมิชอบหรือโดยไม่ได้รับอนุญาต
หก คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลที่ดูแลเรื่องนี้จะขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธาน
จะเห็นได้ว่าความหมายของรัฐบาลดิจิทัลเอาคือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นกลยุทธ์ เพื่อยกระดับการทำงานของภาครัฐ ให้บริการประชาชนได้สะดวกมากขึ้น โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่แค่หน่วยงานราชการทั้งหมดเท่านั้น แต่รวมถึงภาคเอกชนด้วย
พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล ส่อเค้าเครื่องมือในการหยิบใช้ข้อมูลของประชาชน เพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยไม่ขัดกับ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …
อย่างไรก็ตาม จากที่ทาง Beevoice อ่านเพิ่มเติมในกฎหมายดังกล่าวก็ดูเหมือนจะมีปัญหาไม่น้อย เมื่อไปดูที่มาตรา 21 ที่เขียนว่า แม้มีกฎหมายอื่นกำหนดห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล แต่หากเป็นการเปิดเผยโดยสุจริตและเป็นการเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายนั้น
หากตีความจริงๆ มาตรา 21 จะเป็นกฎหมายที่ปกป้องหน่วยที่เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลหรือนำไปใช้ข้อมูล (Processor) ส่วนใน มาตรา 22 ที่ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลใดที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 21 ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลไม่ต้องรับผิดตามกฏหมายนั้น จะเป็นการปกป้องหน่วยที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลหรือปกป้องข้อมูล (Controller)
และในมาตรา 23 ที่เหมือนจะหนักสุด เพราะระบุว่า ในกรณีเกิดสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉินหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และจำเป็นต้องเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ตามกฎหมายระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในกรณีนี้ได้
ซึ่งทั้งสามมาตราสะท้อนออกมาว่า หน่วยงานของรัฐสามารถโอนและอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐอื่นใช้ข้อมูลส่วนบุคลได้โดยที่ไม่ต้องได้รับ “ความยินยอม” จากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคล และได้กำหนดบท “ยกเว้นความรับผิด” ใดๆ ไว้ล่วงหน้าอีกด้วย
เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความย้อนแย้งกับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … และขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูณฉบับปัจจุบัน มาตรา 32 ที่บอกว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือ “การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดใดจะกระทำมิได้” เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ