นำเสนอประเด็นเรื่องของเด็กต่อเนื่องกันมา จากเรื่องของเครื่องเล่นสวนสนุกพังถล่มถึงเรื่องสินค้าอันตรายหน้าโรงเรียนประเภทของเล่น คราวนี้ไปต่อกันเลยกับเรื่องของสินค้าอันตรายหน้าโรงเรียนภาคสองกับเรื่องของอาหาร ของทานเล่นสำหรับเด็ก ๆที่สะดวกหาซื้อหลังเลิกเรียน
ความจริงข่าวคราวในประเด็นนี้มีการพูดถึงกันเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะยามเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีการตีฆ้องร้องป่าว สักพักเรื่องก็เงียบหายไปราวไม่มีอะไรเกิดขึ้นในสังคม
ตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของเด็กผู้หญิงชาว จ.อุดรธานี วัย 15 ปี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 จากสาเหตุมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 600 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเด็กคนนี้มักดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำหวังลดน้ำหนักโดยไม่รับประทานอาหารอย่างอื่นเลย ทำให้เกิดอาหารปวดศีรษะ อาการทรุดหนักจนเสียชีวิตในที่สุด
นั่นคือกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นและสะท้อนให้เห็นถึง พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยตลอดจนค่านิยม ที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆที่มีประชากรเด็กป่วยเป็นโรคอ้วนที่อยู่ภาวะอันตรายจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน
หากกลับไปสำรวจข้อมูลการเคลื่อนไหวต่อการแก้ไขปัญหานี้ พบว่าการแก้ปัญหายังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าใดนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็ก ๆที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป เด็กไทยยังคงมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไร้ประโยชน์อยู่เช่นเดิม ทั้งในประเภทอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารมีรสหวานจัด เค็มจัด หรือ ขนมกรุบกรอบ โดยสังเกตได้จากสินค้าที่วางขายอยู่ในร้านค้าทั้งด้านหน้าและหลังโรงเรียนที่ยังพบขนมไร้ประโยชน์อยู่มากมาย
Bee Voice มีข้อมูลดี ๆมากฝากจากการสำรวจของเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมที่ออกสำรวจความคิดเห็นจากเด็กนักเรียนที่นิยมซื้อหาอาหารหน้าโรงเรียนรับประทานหลังเลิกเรียน ได้ข้อสรุปให้เห็นว่า การเลือกซื้ออาหารรับประทานของเด็ก ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลถึงสุขภาพของเด็กไทยนั่นเอง ซึ่งพบว่าเมนูยอดฮิตใน 10 อันดับสำหรับเด็กนักเรียนได้แก่
อันดับที่ 1 “ชานมไข่มุก” ภายในบรรจุเม็ดไข่มุกหรือแป้งเม็ดกลมเคี้ยวหนึบใส่มาในน้ำนมชาชนิดต่าง ๆ รสชาติหวานเย็น ดึงดูดเด็ก ๆให้ซื้อรับประทาน นับเป็นเมนูเครื่องดื่มที่มีทั้งปริมาณนมและน้ำตาลอยู่ในปริมาณมาก ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่งและสามารถพบบริเวณร้านค้าหน้าโรงเรียนเกือบทุกโรงเรียน
อันดับที่ 2 “ขนมโตเกียว” เป็นขนมยอดฮิตที่มีมาเป็นเวลานานและยังคงได้รับความนิยมซื้อหามารับประทานของเด็กนักเรียน เป็นอาหารที่มีเพียงแป้งและไส้ภายในที่ใส่ไข่นกกะทา, ไข่ไก่, ไส้กรอก, หมูสับ, ไส้ครีม, เผือก หรือครีมหวาน วางขายให้เด็ก ๆ
อันดับที่ 3 “ทาโกะยากิหรือขนมครกญี่ปุ่น” ที่มีส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นแป้งผสมกับหนวดปลาหมึก และราดด้วยมายองเนส มีผักชิ้นเล็ก ๆ ผสมอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อันดับที่ 4 “ซูชิ”ราคาประหยัด อาหารประเภทนี้ถือว่าไม่ดูอันตรายมากนักหากเลือกหน้าที่มีประโยชน์ และร้านที่สะอาด เป็นเมนูอันดับ 4 ที่เด็ก ๆนิยมซื้อรับประทาน เนื่องจากมีรสชาติถูกปากแล้ว ยังเป็นอาหารง่าย ๆ ที่อิ่มท้องด้วย
อันดับที่ 5 “ยำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”หรือที่เด็ก ๆ เรียกว่า “ยำมาม่า” นับเป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เมนูอื่น ๆ เนื่องจากมีรสชาติจัดจ้านแบบไทย ๆ แต่ถือว่าเป็นเมนูที่มีประโยชน์ทางร่างกายน้อยที่สุด เพราะนอกจากผงชูรสที่มีอยู่จำนวนมากแล้ว ร้านค้าส่วนใหญ่ยังไม่นิยมใส่ผักให้กับเด็ก ๆ ดังนั้นสิ่งที่มีในอาหารจานนี้จึงมีเพียงแป้ง น้ำตาล และปริมาณเกลือจากน้ำปลา มีเนื้อสัตว์ประเภท หมูสับ และอาหารทะเลบางชนิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อันดับที่ 6 “เครป” เป็นเมนูของว่างที่ประกอบด้วยแป้งเป็นหลัก ตามด้วยไส้ที่มีให้เลือกทั้งประเภทคาวและหวาน ซึ่งจะไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเท่าไหร่นักโดยเฉพาะชนิดหวานที่ส่วนใหญ่ร้านค้าจะมีขนมสีสดใส ประเภท เยลลี่ วุ้น หรือเม็ดน้ำตาลสี ไว้เรียกลูกค้าด้วย
อันดับที่ 7 “ลูกชิ้นทอด-ปิ้ง” ส่วนใหญ่แม้จะขึ้นชื่อว่าลูกชิ้นที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกชิ้นหน้าโรงเรียนล้วนมีส่วนผสมที่มีแป้งเป็นหลักมากกว่าเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้นคุณค่าที่เป็นโปรตีนจึงมีน้อยมาก นอกจากนี้วิธีการปรุงด้วยการปิ้งหรือทอด ล้วนเป็นกรรมวิธีทำอาหารที่มีอันตรายอีกด้วย
อันดับที่ 8 “มันฝรั่งเกลียวกรอบ”เป็นเมนูอาหารว่างที่มีผงปรุงรส รสชาติต่าง ๆทั้งรสชีส ปาปริก้า พิซซ่า โนริสาหร่าย กระเพรา ฮอตแอนด์สไปซี่ ฯล ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมที่เป็นผงชูรสที่มีอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญเด็ก ๆ บางคนยังขอให้โรยเครื่องปรุงชนิดนี้จำนวนมากอีกด้วย
อันดับที่ 9 “ผลไม้รถเข็น” แม้ว่าวัตถุดิบหลักจะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ เพราะมีวิตามินหลายชนิด แต่บางชนิดก็ต้องระมัดระวังเพราะมีการแช่ส่วนผสมอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สีหรือส่วนผสมที่ทำให้ผลไม้กรอบ ดังนั้นต้องเลือกซื้อผลไม้ที่สดและสะอาดจะดีกว่า
อันดับที่ 10 “ขนมปังสังขยา” แม้จะเป็นอาหารที่มีพิษภัยน้อยแต่ส่วนผสมส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงคาร์โบไอเดรต และยังมีน้ำตาลสูงอีกด้วย นักเรียนระบุนิยมเพราะหาซื้อง่าย แต่ไม่รู้พิษภัย
ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อาหารว่างที่เด็กนิยมซื้อรับประทานส่วนใหญ่ มักจะเป็นอาหารที่มีรสชาติค่อนข้างจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด และเป็นอาหารที่ใช้กรรมวิธีในการทำง่าย โดยเฉพาะอาหารชนิดทอด หรือปิ้ง ซึ่งถือเป็นกรรมวิธีที่ระบุว่า เป็นการประกอบอาหารที่อันตรายต่อสุขภาพกว่าวิธีอื่น ๆ แต่เมื่อสอบถามความคิดเห็นของเด็กนักเรียนที่นิยมซื้ออาหารเหล่านี้รับประทาน ส่วนใหญ่ได้รับคำตอบว่า ไม่ค่อยรู้ถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารเหล่านี้ หรือแม้จะมีการให้ความรู้ในบทเรียนบ้าง แต่เมื่อออกมาตามร้านค้า กลับยังพบอาหารวางขายอยู่ หาซื้อได้ง่ายกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรต่อสุขภาพมากนัก
ขณะที่เรื่องดังกล่าวนี้เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2554 และมีการรณรงค์และทำข้อมูลปัญหามาโดยตลอด เพราะจากข้อมูลถูกระบุว่ามักจะมีการนำขนมไร้ประโยชน์หรือบางครั้งเป็นขนมปลอมจากชายแดนนำเข้ามาบรรจุถุงขายกระจายออกไปตามร้านค้าหน้าโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก นอกจากขนมปลอมแล้วยังมีอาหารจำพวกของหวาน ของทอด ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก และสถานการณ์กำลังน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการรณรงค์อย่างจริงจัง
“เตือนแล้วเตือนอีกอันตรายจากอาหารทอด ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตือนอันตรายของอาหารประเภทของทอดทั้ง กล้วยแขก ลูกชิ้นทอด ไก่ทอด ฯลฯ ที่มีหน้าตาน่ารับประทานและรสชาติกรอบ อร่อย แต่แฝงด้วยอันตรายที่มองไม่เห็นของสารก่อมะเร็ง เพราะน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารทั้งน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์”
เรื่องราวของเมนูอาหารยอดฮิตหน้าโรงเรียนคงเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป ตราบใดที่หน่วยงานที่รับผิดชอบยังมองข้ามประเด็นและการให้ความสำคัญ นั่นหมายความว่าชีวิตของลูกหลานเรา ๆย่อมต้องถูกเซ่นสังเวยจากอาหารกันต่อไป